กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมควบคุมโรค
ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.นายแพทย์อนุพงค์ สุจริยากุล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 ราชบุรี และคณะผู้บริหาร นำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย พร้อมชมการสาธิตการเจาะเลือดหาเชื้อมาลาเรีย สาธิตกล้องจุลทรรศน์เครือข่าย(Webcam Microscope) รวมถึงการพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันการระบาดและการชุบมุ้งด้วยสารเคมี ในโครงการกำจัดมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปี พ.ศ.2567
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียตั้งเป้าหมายภายในพ.ศ.2563 สามารถยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียอย่างถาวรครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของประเทศ และกำจัดมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยภายในปีพ.ศ.2567 โดยใช้กลยุทธ์การทำงานแบบบูรณาการเชิงรุกร่วมกับทุกเครือข่าย และให้เครือข่ายพันธมิตรระดับปฏิบัติการทุกหน่วย สามารถตรวจและรักษาโรคมาลาเรียได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดตามแนวชายแดน พร้อมจัดยารักษาฟรีให้แก่ผู้ป่วยทั้งคนไทยและต่างชาติได้ทันที ซึ่งโรคนี้มียารักษาให้หายได้ หากรักษาเร็วจะลดความรุนแรงโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้ ที่สำคัญป้องกันการเกิดเชื้อดื้อยา นอกจากนี้ ยังมีการทำงานร่วมกันแบบโรงพยาบาลคู่แฝดที่มีความร่วมมือด้านการรักษาพยาบาล เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคตามแนวชายแดนเช่น โรงพยาบาลพญาตองซู อ.พญาตองซู จังหวัดกอกาเร็ก ประเทศพม่า เป็นโรงพยาบาลคู่แฝดกับโรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เป็นต้น
ส่วนการดำเนินงานในพื้นที่เพื่อควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรีย มี 5 มาตรการหลัก ดังนี้ 1.การจัดการในผู้ป่วย โดยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับบริการได้ที่มาลาเรียคลินิก ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนทั่วไปที่เป็นพื้นที่เสี่ยง 2.การให้มุ้งชุบสารเคมีครอบคลุมประชากรพื้นที่เสี่ยง เป็นมุ้งชุบสารเคมีไพรีทรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายในระยะเวลาอันสั้น ไม่เป็นอันตรายต่อคน 3.การฉีดพ่นสารเคมีที่มีฤทธิตกค้างเพื่อฆ่ายุงก้นปล่องตัวเต็มวัยในกลุ่มพื้นที่ระบาด 4.ระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยมาลาเรียในพื้นที่ ทั้งในส่วนที่ต้องคัดกรอง และส่วนที่ค้นหาเพื่อรักษา และ5.การให้การบริการเฝ้าระวังควบคุมโรคในประชากรกลุ่มเคลื่อนย้าย และแรงงานข้ามชาติ ส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดเน้นในการดำเนินงานครั้งนี้คือ บริเวณชายแดนที่มีป่า สวนป่าที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ป่ายางในพื้นที่อีสาน
ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์มาลาเรียในประเทศไทยปี 2557 จากข้อมูลสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่ามีผู้ป่วยมาลาเรีย จำนวน 29,506 ราย เป็นชาวไทย 22,488 ราย และต่างชาติ 7,018 ราย ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ชายแดน โดยจำนวนผู้ป่วยลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 17.39 ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงาน อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 20.73 ในกลุ่มเด็ก/นักเรียน กลุ่มชาวนา และชาวสวนยางพารา ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี 7,821 ราย ตาก 6,040 ราย ยะลา 3,825 ราย กาญจนบุรี 1,677 ราย และสงขลา 1,328 ราย
สำหรับการดำเนินงานเพื่อตรวจและรักษาโรคมาลาเรียให้รวดเร็ว กรมควบคุมโรคได้พัฒนานวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “กล้องจุลทรรศน์เครือข่าย เวปแคม ไมโครสโคป(Webcam Microscope)” โดยการนำเทคโนโลยีสื่อสารผ่านระบบออนไลน์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยโรคมาลาเรีย เพิ่มความสะดวกการให้บริการ ยืนยันผลภายในเวลา 1 นาที โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อมาลาเรียจากส่วนกลางทันที ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จะสามารถส่งภาพเชื้อมาลาเรียจากกล้องจุลทรรศน์ที่เชื่อมต่อกับเวปแคมให้ผู้เชี่ยวชาญดูได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน ในขณะเดียวกัน หากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามผู้เชี่ยวชาญได้ทันที เมื่อวินิจฉัยเชื้อโรคได้ถูกต้อง รวดเร็ว จะสามารถใช้ยาที่มีประสิทธิภาพตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุ รักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรมควบคุมโรคได้ขยายพื้นที่ดำเนินให้ครอบคลุมโดยมีพื้นที่ที่ดำเนินการแล้ว รวมทั้งสิ้น 38 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 20 แห่ง อีกทั้งขยายโครงการนำไปใช้ในโรคหนอนพยาธิ ซึ่งระบบนี้จะถูกพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับโรคอื่นๆ เช่น วัณโรค ที่ยังคงเป็นปัญหาของประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร
ส่วน ดร.นายแพทย์อนุพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดกาญจนบุรีมีชายแดนติดกับประเทศพม่า 370 กิโลเมตร ประชาชนทั้งสองประเทศเดินทางติดต่อกันได้สะดวก และปัญหาโรคติดต่อที่สำคัญคือโรคมาลาเรีย ซึ่งในปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 1,677 ราย สูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศรองจากจังหวัดอุบลราชธานี ตาก และยะลา โดยอำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อำเภอสังขละบุรี 732 ราย ไทรโยค 384 ราย และทองผาภูมิ 313 ราย มีผู้ป่วยรวมกัน 1,429 ราย คิดเป็นร้อยละ 85.2 ของผู้ป่วยในจังหวัดกาญจนบุรี
“โรคมาลาเรีย จะมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ส่วนมากพบในจังหวัดชายแดนประเทศไทยที่มีบริเวณเป็นภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติหรือเขาชันลาดเอียงมีลำธาร โดยยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรีย กัดและปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดคน หลังจากนั้นประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบายแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้คิดว่าอาจเป็นโรคมาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว ที่สำคัญควรเตรียมมุ้งหรือเต็นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง นอนในมุ้งชุบสารเคมี และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แนะนำให้ใช้สีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำมักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดเข้ามากัด รวมทั้งจุดยากันยุง หรือทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ เพื่อป้องกันยุงกัด และประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” ดร.นายแพทย์อนุพงค์ กล่าวปิดท้าย