กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ส่วนสื่อสารองค์กร สสว.
รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เดินหน้างานส่งเสริม SMEs ทั้งจัดทำงบบูรณาการส่งเสริม SMEs ที่เป็นรูปธรรมครั้งแรกของประเทศ ปรับโครงสร้างและกระบวนการส่งเสริมทั้งภาคการผลิต การค้า บริการ และเกษตรแปรรูป ที่ครอบคลุมทุกวงจรธุรกิจ โดยมี สสว. หน่วยงานภาครัฐ-เอกชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นกลไกหลักให้ยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEsของรัฐบาล ส่งประโยชน์ตรงถึงผู้ประกอบการ SMEs ด้วยเป้าหมายให้พัฒนาเข้าสู่ Global Supply Chain
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEsมาอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้เป็นงานที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและร่วมกันดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในทุกรูปแบบ หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล คือการจัดทำงบประมาณลักษณะบูรณาการเรื่องการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งปรับโครงสร้างการส่งเสริม SMEs ของประเทศ ให้เกิดการบูรณาการงานส่งเสริม SMEs ที่เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน SMEs เพื่อให้สามารถพัฒนาเข้าสู่ Global Supply chain
โดยในส่วนของการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการงานส่งเสริม SMEs ได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณลักษณะบูรณาการฯ ซึ่งมีหน่วยงานในระดับกระทรวงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นคณะทำงาน โดย สสว. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษา วิเคราะห์ เพื่อกำหนดเป้าหมายการส่งเสริม SMEs และร่วมพิจารณากลั่นกรองแผนงานส่งเสริม SMEs ที่ครอบคลุมทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคเกษตรแปรรูป และในทุกวงจรของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะขยายกิจการ และระยะก้าวสู่สากล เพื่อบรรจุในงบประมาณบูรณาการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เห็นถึงการส่งเสริม SMEs ของประเทศอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของแผนงาน งบประมาณ และผลการส่งเสริม สนองตอบเจตนารมณ์ของรัฐบาล ที่ต้องการให้บริการของภาครัฐสามารถกระจายไปสู่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ปัจจุบันงบประมาณแบบบูรรณาการดังกล่าว คณะทำงานได้ดำเนินการจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เมื่อได้รับความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว สำนักงบประมาณจะใช้แผนงานดังกล่าวเป็นเป้าหมายหลักในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เสนอของบประมาณเกี่ยวกับการส่งเสริม SMEs ในปี 2559 เป็นต้นไป ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดจุดอ่อนในการส่งเสริม SMEs ของประเทศในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขาดการประสานและบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการทำงานในลักษณะต่างคนต่างทำ มีการทำงานที่ซ้ำซ้อน การส่งเสริมส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มStart up เป็นหลัก
นอกจากนั้นในการปรับโครงสร้างและกระบวนการส่งเสริม SMEs ของประเทศ โดยให้ สสว. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs และเป็นศูนย์กลางประสาน เพื่อเชื่อมต่องานส่งเสริม SMEs ทั้งในด้านการรับความต้องการจากผู้ประกอบการ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น Service Provider และการส่งต่องานช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไปสู่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาท ภารกิจโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
ส่วนการดำเนินงานที่ สสว. ทำมาอย่างต่อเนื่อง คือการจัดทำฐานข้อมูล SMEsที่มีความครอบคลุม ครบถ้วน ทั้งในเรื่องสถานการณ์ SMEs ด้านต่างๆ งานศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อ SMEs โดยฐานข้อมูลดังกล่าวได้ให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน และหน่วยงานต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้บูรณาการฐานข้อมูล SMEs กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับให้เป็นฐานข้อมูล SMEs แห่งชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ จัดทำนโยบายและแผนงานส่งเสริม SMEs ที่มีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับการดำเนินภารกิจการส่งเสริม SMEs ในปี 2558 สสว. ได้ดำเนินการตามแผนงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2558 ซึ่งมุ่งสนับสนุนปัจจัยแวดล้อมรวมทั้งสร้างเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พัฒนาผู้ประกอบการด้านศิลปหัตถกรรม ฯลฯ ที่ผ่านมา สสว. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผนงาน/โครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าสู่ Global Supply Chain สสว. ได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรทั้งบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งองค์กรธุรกิจ ดำเนินกิจกรรมการตลาดเพื่อสร้างช่องทางการขายให้กับสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs ไทย ซึ่งที่ผ่านมาได้นำผู้ประกอบการไทยทำ Business Matching กับบริษัท Boots และบริษัท ล็อกซเล่ย์ รวมถึงการทำตลาดในรูปแบบใหม่ๆ โดยร่วมกับองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) และสมาคมการค้าไทย-ฮ่องกง (THTA) ด้วยการประกวดวีดิโอนำเสนอสินค้าของSMEs ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือก จะมีโอกาสนำผลงานไปร่วมแสดงใน Small Order Zone ในงานแสดงสินค้าเครื่องใช้ในครัวเรือน และงานของขวัญและของที่ระลึก ที่ใหญ่ที่สุด ณ ประเทศฮ่องกง ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2558 ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐ (USAID) เพื่อสนับสนุนช่องทางให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ตลาดสหรัฐ ฯลฯ ดำเนินการจัดทำ ASEAN SMEs Portal เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลเพื่อให้บริการด้าน SMEs ของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ให้พร้อมรับกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ใน 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริม SMEs ระยะเร่งด่วน ปี2558 เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเครือข่าย SMEs ระดับพื้นที่ จำนวนไม่น้อยกว่า 54 เครือข่ายทั่วประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ให้เกิดการร่วมมือในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างพลังทางธุรกิจในองค์รวมแก่ประเทศ ทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต ด้านการเพิ่มมูลค่าสินค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับ SME ไทย ซึ่งในเบื้องต้น จะทำการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า และภาคบริการ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ครอบคลุมในมิติด้านการยกระดับกระบวนการผลิต การปรับปรุงระบบการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ และการส่งเสริมด้านการตลาดให้กับกลุ่มเครือข่าย SMEs โดยในปีนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ของ สสว. ตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่า SMEs มีการส่งออก 156,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.85 มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 4.422 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.57 ขณะที่ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจของ SMEs (SMEs Leading Economic Index) ขยายตัว 6 เดือนติดต่อกัน โดย ณ เดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 110.72 เพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 0.26 ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจของ SMEs ประกอบการแผนการส่งเสริม ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่องนี้ เชื่อว่าจะส่งเสริมให้ SMEs มีการขยายตัวต่อเนื่อง