กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช.
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงข้อมูลถึงกรณีอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยจะนำคดีเรื่องคุณสมบัติของศาสตราจารย์ ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ไปฟ้องที่ศาลอาญาว่า โดยหลักแล้ว ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานหนึ่งฐานใด หากเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจชำระคดีอาญาได้ หลักนี้เป็นหลักเบื้องต้นที่แม้นักศึกษากฎหมายก็รู้กันดี แต่ขอให้ข้อคิดแก่นักกฎหมายที่ช่วยเหลือโจทก์คดีนี้ว่า การใช้สิทธิทางศาลนี้จะต้องกระทำโดยสุจริตดังสุภาษิตกฎหมายที่นักกฎหมายคุ้นเคยกันดีว่า “He who comes to equity must how clean hand.”
ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอยู่นี้ การฟ้องคดีต่อศาลอาญาของโจทก์ มีอยู่หลายกรณีที่โจทก์มิได้มีความมุ่งหวังจะให้ศาลลงโทษจำเลยจริงๆ โดยโจทก์รู้อยู่แก่ใจดีว่าคดีเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง และรู้อยู่แก่ใจดีอีกว่าโจทก์เองไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แต่โจทก์ฟ้องเพียงเพื่อหวังผลทางการเมือง โดยโจทก์รู้ดีว่าเมื่อยื่นฟ้องไปแล้วก่อนจะตัดสินยกฟ้อง ศาลต้องมีระเบียบพิธีตามที่กำหนดไว้ ระเบียบพิธีนี้ทำให้ดูเหมือนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีถูกกระบวนยุติธรรมทางอาญาเล่นงานเข้าแล้ว ยิ่งการถูกฟ้องคดีของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญด้วยแล้ว สื่อมวลชนจะให้ความสนใจกระพือข่าว คือโจทก์ต้องการสร้างความวุ่นวายใจให้แก่ผู้ถูกฟ้องเท่านั้น การใช้สิทธิของโจทก์ในลักษณะนี้ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไร้ศักดิ์ศรี เป็นการไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล
การใช้ศาลเป็นเครื่องมืออย่างนี้ ในวงการกฎหมายถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจและนักกฎหมายที่มีจริยธรรม ไม่ทำกัน เป็นการสร้างภาพให้นักกฎหมายเป็นคนฉลาดแกมโกง อันมีผลให้วิชาชีพกฎหมายถูกดูแคลน ในประเทศที่เจริญแล้ว นักกฎหมายประเภทนี้จะถูกชุมชนทางวิชาชีพกดดันจนทำมาหากินไม่ได้ แต่การบังคับใช้มาตรฐาน ทางจริยธรรมทางวิชาชีพในประเทศไทยอ่อน นักกฎหมายประเภทนี้จึงมีอยู่มาก การกระทำอย่างนี้ยังถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญแก่ศาล ซึ่งอาจมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้อีกด้วย