กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ปภ.
มท.1 สั่งการ ปภ. ประสานจังหวัดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำเป็นระบบเชื่อมโยงในทุกระดับและแจกจ่ายน้ำทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่เน้นให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ ลพบุรี มหาสารคาม สุโขทัย และนครสวรรค์ รวม 29 อำเภอ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เน้นวางแผนบริหารจัดการน้ำเป็นระบบเชื่อมโยงในทุกระดับ และแจกจ่ายน้ำทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ เน้นให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ระยะนี้บางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) แล้ว 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ ลพบุรี มหาสารคาม สุโขทัย และนครสวรรค์ รวม 29 อำเภอ 195 ตำบล 2,012 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 2.68 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานจังหวัดสำรวจปริมาณน้ำ จัดทำบัญชีแหล่งน้ำในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อสนับสนุนการสูบน้ำดิบเข้าสู่ระบบประปาหมู่บ้านและถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง โดยจัดหา ทำความสะอาด ซ่อมแซมภาชนะกักเก็บน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี สำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภคและใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรควรวางแผนทำการเกษตรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ โดยงดทำนาปรังในช่วงฤดูแล้ง เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง
มท.1 สั่งการ ปภ.ประสานจังหวัดให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว 28 จังหวัด
มท.1 สั่งการ ปภ. ประสานจังหวัดให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว จัดสรรเครื่องนุ่งห่มกันหนาวอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยเป็นหลัก ให้การดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ รวมถึงดำเนินมาตรการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว ทั้งอัคคีภัย ไฟป่า หมอกควัน โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุทางถนนในช่วงหมอกลงจัด และอุบัติภัยจากการท่องเที่ยว
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) 28 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด และภาคกลาง 2 จังหวัด รวม 320 อำเภอ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว จัดสรรเครื่องนุ่งห่มกันหนาวอย่างทั่วถึง โดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยเป็นหลักให้การดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ รวมถึงดำเนินมาตรการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว ทั้งอัคคีภัย ไฟป่า หมอกควัน โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุทางถนนในช่วงหมอกลงจัด และอุบัติภัยจากการท่องเที่ยว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ระยะนี้พื้นที่ตอนบนของประเทศได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – ปัจจุบัน มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) 28 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ แพร่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ศรีสะเกษ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ สุรินทร์ มหาสารคาม เลย นครพนม หนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร ชัยภูมิ และหนองบัวลำภู ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และราชบุรี รวม 320 อำเภอ 2,380 ตำบล 27,521 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 36.71 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่ง ปภ. ได้ประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมจัดสรรเครื่องนุ่งห่มกันหนาวแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยหนาว รวมถึงดำเนินมาตรการป้องกันภัยในช่วงฤดูหนาว เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือภัยในช่วงฤดูหนาว โดยเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟเป็นพิเศษ เพราะช่วงฤดูหนาวมีสภาพอากาศแห้ง ลมพัดแรง เมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟจะลุกลามอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเปิดไฟหน้ารถ ไฟตัดหมอก ไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในช่วงหมอกปกคลุมเส้นทาง ตลอดจนรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ สร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงสภาพอากาศหนาวเย็น