กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ProgressTH
บ่ายโมงวันพุธที่ ๒๑ มกราคมนี้ผมจะไปฟังคำพิพากษาที่ศาลปกครองสูงสุด เป็นสิ่งที่ท้าทายว่าคนไทยมีสิทธิเสรีภาพและอิสรภาพที่จะเดินทางได้อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ ถ้าศาลยุติธรรมไม่สามารถให้การคุ้มครองต่อสิทธิความเป็นพลเมืองได้ เราจะไปแสวงหาความยุติธรรมและอิสรภาพในการเดินทางจากที่ไหน
สืบเนื่องจากผมและเพื่อนมนุษย์ล้ออีก ๒ ท่าน คือคุณเสาวลักษณ์ ทองก๋วย และคุณพิเชฎฐ์ รักตะบุตร ผู้แทนของเพื่อนมนุษย์ล้อที่ประสบปัญหาจากการที่กรุงเทพมหานครและบริษัทรถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่ติดตั้งลิฟท์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการในรถไฟลอยฟ้าบีทีเอส (BTS) ทั้งที่ได้ตกลงที่จะดำเนินการให้ตั้งแต่ก่อนเปิดใช้งานในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงต้องนำเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๐ ต่อมาแต่ศาลได้ยกฟ้องในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๒
ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าถึงแม้มีกฎหมายว่าด้วยคนพิการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๔ แต่การที่กฎหมายกำหนดเพียงหลักการว่าให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ แต่ไม่ได้กำหนดลักษณะอุปกรณ์ไว้โดยละเอียด กรุงเทพมหานครและบริษัทบีทีเอสย่อมไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เรื่องนี้โดยข้อเท็จจริงเราทราบดีว่าการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนตามมาตรฐานสากลนั้นจะต้องจัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนอย่างไรบ้าง องค์กรคนพิการก็ได้เคยนำเสนอรายละเอียดเหล่านี้ให้กรุงเทพมหานครและบริษัทบีทีเอสมาโดยตลอดระหว่างการก่อสร้างโครงการ... แต่ศาลปกครองก็ยกฟ้อง
เราได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ โดยเชื่อว่าการจัดตั้งศาลปกครองก็เพื่อขจัดปัดเป่าปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม อีกทั้งการลงทุนบริการสาธารณะขนาดใหญ่เช่นนี้ควรปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ตามหลักสิทธิมนุษยชนและการไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ซึ่งบ่งชี้ชัดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราจึงหวังว่าศาลปกครองสูงสุดจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมเพื่ออิสรภาพในการเดินทางของประชาชนอย่างเท่าเทียม... จึงได้ยื่นอุทธรณ์ดังกล่าว
ภายหลังการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเราไม่ย่อท้อต่อความพยายาม จึงได้เจรจากับกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด จนกระทั่ง มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอและได้รับอนุมัติจากสภากรุงเทพมหานครให้ติดตั้งลิฟท์ ๑๙ สถานีจำนวน ๕๖ ชุด โดยได้เริ่มสัญญาก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗ ถึงแม้ว่าการดำเนินงานจะล่าช้ากว่ากำหนดมากแต่ก็ถือได้ว่ากรุงเทพมหานครได้ใส่ใจและเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ผมขอขอบคุณและชื่นชมมา ณ โอกาสนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนับว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะอิสรภาพในการเดินทางของประชาชนยังถูกจองจำไว้ด้วยความไม่เสมอภาคจำนวนมาก เช่น รถเมล์ขึ้นไม่ได้ รถแท็กซี่ไม่จอดรับ รถไฟฟ้าใต้ดินขึ้นได้แค่บางสถานี สายการบินแห่งชาติปฏิเสธบริการคนพิการ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคปฏิรูป แต่ดูเหมือนว่าปัญหาเหล่านี้กลับรุนแรงมากขึ้น เสียงของประชาชนไม่ดังพอที่ผู้บริหารหน่วยงานพึงจะมีจิตสำนึกในการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องรอให้คนพิการต้องออกมาเดินขบวนเรียกร้องในรูปแบบเดิมๆ
ผมจึงยังมีความหวังว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดจะช่วยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้สังคมหรืออย่างน้อยสามารถให้ทางออกอย่างใดอย่างหนึ่งได้ หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม แสดงว่าสังคมนี้เป็นสังคมที่ต่างคนต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดใช่หรือไม่ สิทธิความเสมอภาคของประชาชนที่เขียนไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศก็คงไม่มีความหมายใดๆ จะปฏิรูปปฏิวัติกันกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ไม่มีความหมายใดๆ ใช่หรือไม่ !!!
ผมยังไม่อยากจินตนาการไปไกลกว่านี้ อะไรจะเกิดขึ้นหลังการอ่านคำพิพากษาในวันพุธที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.๓๐ น. สิ่งที่ผมทำได้มีเพียงการให้กำลังใจแก่กันและกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราจะอยู่เคียงข้างเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามของเราอย่างไม่ท้อถอยต่อไป ผมจะไปฟังคำพิพากษาด้วยความหวัง ท่านจะไปฟังคำพิพากษากับผมมั๊ยครับ !!!