กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 ใน 4 จังหวัดของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง (ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง) ภายหลังกระทรวงเกษตรฯ งดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก ระบุ เกษตรกรให้ความร่วมมือ เผย พื้นที่ปลูกลดลงร้อยละ 76 โดยเกษตรกรบางส่วนรีบทำนาปีรอบที่ 2 ในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคมแทน และบางส่วนหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ถั่วเขียว
นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 ในพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วยจังหวัดชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ซึ่งเป็น 4 ใน 26 จังหวัดของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลองตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ให้กรมชลประทานงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังอันเนื่องมาจากปัญหาปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อยและไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันประกาศแจ้งให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งช่วงเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 เกษตรกรจะลงมือเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2557 และจะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558
ในเรื่องดังกล่าว สศข.7 ได้ติดตามสถานการณ์การผลิตข้าวนาปรัง ปี 2558 (ปลูกระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 - 30 เมษายน 2558) พบว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2558 ใน 4 จังหวัด มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 347,581 ไร่ ลดลงจากปี 2557 ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 1,450,285 ไร่ (ลดลง 1,102,704 ไร่ หรือร้อยละ 76) โดยเกษตรกรบางส่วนรีบทำนาปีรอบที่ 2 ในช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมแทน และบางส่วนหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ถั่วเขียว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่จะปล่อยนาทิ้งให้ว่างเพราะไม่ต้องการเสี่ยงกับปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงการเจริญเติบโตของต้นข้าวซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก