กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จหลังจากพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับแรกของไทย มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมชายผู้หนึ่งผู้ซึ่งดำเนินกิจการฆ่าชำแหละและค้าเนื้อสุนัข ในพื้นที่บ้านทุ่งเสี้ยว มะขามหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 และพรบ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ซึ่งกำหนดบทลงโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Watchdog Thailand หรือ WDT องค์กรภาคเอกชน ในการสนับสนุนของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ซึ่งเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือการจัดสวัสดิภาพสุนัขและแมวในประเทศไทย รับแจ้งเบาะแสจากประชาชน พบเห็นการโพสภาพเนื้อและซากสุนัขบนเครือข่ายสังคมอนไลน์เฟสบุ๊ค จึงเร่งประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่เข้าตรวจสอบบ้านหนุ่มเหนือผู้โพสภาพ จากการสืบสวน มือโพสกล่าวอ้างนำภาพมาจากอินเตอร์เนท อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบพบภาพเนื้อสุนัขเพิ่มเติมจากประวัติการโพสที่ผ่านมา หลังจากการสอบสวนอย่างเข้มข้น ชายดังกล่าวจึงรับสารภาพว่าตนกล่าวเท็จ และยอมเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของผู้ดำเนินกิจการฆ่าและชำแหละเนื้อสุนัขในอำเภอสันป่าตอง ที่มาของภาพเนื้อสุนัขในที่สุด
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสอบสวนขยายผล ตามหลักฐานอย่างต่อเนื่อง จนสามารถเข้าจับกุม นายนิคม ซึ่งประกอบอาชีพฆ่า ชำแหละสุนัขตามสั่ง และตามความนิยมของท้องถิ่น ได้ที่บ้านพัก ตำบลมะขามหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อม ช่วยเหลือสุนัขได้ 1 ตัว ถูกขังอยู่ในกรงคับแคบ เพื่อรอการชำแหละฆ่า
พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ระบุชัดเจนว่าการกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรและการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในการทารุณกรรมสัตว์นั้นถือว่าผิดกฎหมาย หลายคดีถูกนำเข้าศาลเพื่อพิพากษาแล้วในช่วงปีนี้ แต่กลุ่มคนรักสัตว์ก็ยังคงเป็นห่วงว่าการตัดสินบทลงโทษสำหรับคดีทารุณกรรมสัตว์ที่ผ่านมายังถือว่าเบาไป มิสเตอร์จอห์น ดัลลี ผู้ร่วมก่อตั้งและรองประธานมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “ข่าวการจับกุมครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับเรา การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษากฎหมายอย่างแข็งขันก็เป็นที่น่าพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม เรายังรู้สึกว่าการตัดสินบทลงโทษของศาลปัจจุบันไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงของการกระทำผิดกฎหมาย และไม่รุนแรงพอที่จะป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทารุณกรรมลักษณะเดียวกันนี้อีกในอนาคต ตามพรบ. มาตรา 31 ให้อำนาจศาลตัดสินลงโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีผู้กระทำความผิดคนใดถูกส่งเข้าเรือนจำและโทษปรับก็อยู่ที่ราวๆ 8,000 บาท ผู้พิพากษาสามารถส่งสัญญาณเตือนให้ประชาชนเห็นว่ากฎหมายอาญาและการกระทำความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์นั้นไม่ควรละเมิดได้ด้วยการพิจารณาตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยบทลงโทษสูงสุด”
จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่มีประวัติการบริโภคเนื้อสุนัขมาหลายสิบปี อย่างไรก็ดีค่านิยมการบริโภคเนื้อสุนัขก็จำกัดอยู่ในหมู่คนบางกลุ่มเท่านั้น