กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ประจำปี 2558 ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ว่า สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณกระบือลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของกระบือ เนื่องจากการผลิตกระบือต้องใช้เวลานานมากกว่าหนึ่งปี ดังนั้น เกษตรกรที่จะเริ่มลงทุนเลี้ยงกระบือ มีปริมาณลดลง เนื่องจากการไปปลูกพืชไร่หรือปศุสัตว์ชนิดอื่นจะให้ผลตอบแทนที่เร็วกว่า ในอดีตที่ผ่านมากระบืออยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยควบคู่กับการเกษตรอื่นๆ และเป็นการเลี้ยงโดยใช้พื้นที่สาธารณะ ซึ่งในปัจจุบันปัจจัยต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไป เช่น การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ และพันธุ์สัตว์มีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของจำนวนกระบือที่ลดลงโดยตลอด และนับเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ความต้องการกระบือของประเทศเพื่อนบ้านมีมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้เกษตรกรหันกลับมาสนใจการเลี้ยงกระบือและฟื้นฟูวิถีชีวิตระหว่างเกษตรกรไทยกับกระบือให้กลับมาเป็นวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกันใหม่
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการเลี้ยงกระบือลดลง ในขณะที่ทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความต้องการกระบือเพิ่มมากขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จึงเห็นความสำคัญที่ต้องดำเนินการกระตุ้นให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงกระบือเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และองค์กรต่าง ๆ จัดงานนี้ขึ้น ภายใต้ชื่องานว่า “ควายไทยมรดกไทย ร่วมใจพัฒนา” ซึ่งกำหนดจัดระหว่างวันที่ 23 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2558 วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจให้ได้รับความรู้ด้านการจัดการเลี้ยงดู การป้องกันและกำจัดโรคระบาดสัตว์ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอาหารสัตว์ และเทคโนโลยีการผลิต โดยเน้นให้เห็นความสำคัญของการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์กระบือ ตลอดจนเป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการแสดงผลงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่เลี้ยงสัตว์หนาแน่น มีจำนวนกระบือ 611,775 ตัว หรือร้อยละ 73 ของประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงกระบือ 159,439 คน หรือร้อยละ 86 ของประเทศ ดังนั้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นแหล่งการเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดงานนี้ ซึ่งจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนาเครือข่ายเกษตรกรคนรักควายระดับชาติ การแสดงพันธุ์สัตว์ การสาธิตและการฝึกควายไถนา การประกวดกระบือรุ่นต่างๆ การแข่งขันภูมิปัญญาไทย การแข่งขันฝึกกระบือแสนรู้ การประกวดวาดภาพระบายสี นอกจากนี้ ยังมีการประกวดสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น โคนม โคเนื้อ ฯลฯ