กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา นาทียื้อชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินจากสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เกิดขึ้นบนเครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่ง โลกโซเชียลมีเดียได้มีการแชร์คลิปของการยื้อชีวิตของผู้ป่วยท่านนี้ โดยในคลิปได้มีคนพยายามช่วยเหลือด้วยการฟื้นคืนชีพหรือ CPR ให้กับผู้ป่วยรายนี้ แต่สุดท้ายก็ต้องจบชีวิตลง และก่อนหน้านี้ไม่นานในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีที่ผ่านมาก็มีข่าวของการเสียชีวิตคาลู่วิ่งของผู้ที่เข้าไปใช้บริการในฟิสเนสที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และหากเราไล่ย้อนเหตุการณ์ไปมากกว่านี้ ก็จะพบสถิติการเสียชีวิตด้วยสภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในพื้นที่สาธารณะของคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก
ในประเทศไทยนั้น ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถือเป็นภัยคุกคามและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับต้นๆ ของประชากร โดยเหตุการณ์ส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นทั้งที่บ้าน ที่สาธารณะ บนเครื่องบิน สถานีรถไฟ ห้างสรรพสินค้า สถานที่ออกกำลังกาย และสถานบริการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกสถานพยาบาล สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จึงได้มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้มีการเตรียมพร้อมติดตั้งและการฝึกใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ไว้ในสถานที่ที่มีโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฉุกเฉินดังกล่าว โดยจะมีการจัดงานรณรงค์ขึ้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เครื่อง AED ได้ถูกนำไปติดตั้งและนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า เครื่อง AED เป็นเครื่องมือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบอิเล็กทรอนิกส์พกพา ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้เครื่องนี้ได้ โดยเมื่อมีการเปิดการใช้งานของเครื่อง AED ก็จะสามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต และสามารถให้การรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจได้โดยใช้กระแสไฟฟ้าหยุดรูปแบบการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ เพื่อเปิดโอกาสให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่ในจังหวะที่ถูกต้องได้ โดยการรักษานั้นระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจะออกคำสั่งให้เราเป็นผู้ปฏิบัติตามได้ ที่ผ่านมาได้มีตัวอย่างการนำเครื่อง AED มาใช้ในต่างประเทศและเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินในภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น โดยในประเทศญี่ปุ่นได้มีการกระจายการติดตั้งเครื่อง AED ตามที่สาธารณะต่างๆ มากถึง 380,000 เครื่อง และมีแนวโน้มการติดตั้งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากร และสามารถช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินให้รอดชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 45
ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปที่ได้รับการฝึกฝนการใช้เครื่อง AED จะสามารถใช้งานได้ ภายใต้คำแนะนำของผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินผ่านสายด่วน1669??โดยเริ่มแรกเมื่อผู้ใช้งานเปิดฝาเครื่องAED?ให้ฉีกซองบรรจุอิเล็คโทรด โดยแผ่นอิเล็คโทรดจะมีอยู่2ชิ้น ซึ่งชิ้นแรกจะต้องนำไปติดบนทรวงอกตอนบนของผู้ป่วย และชิ้นที่สองจะต้องติดบนผิวทรวงอกตอนล่างของผู้ป่วย จากนั้นเครื่อง?AED?จะทำการวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งขณะนี้ห้ามผู้ที่ช่วยเหลือสัมผัสตัวผู้ป่วยเด็ดขาด จากนั้นเมื่อเครื่องวินิจเสร็จเสร็จแล้วจะขึ้นสัญญาณให้ทำการช็อคไฟฟ้า ให้ผู้ช่วยเหลือกดที่ปุ่มช็อคตามสัญญาณที่ปรากฏอยู่บนตัวเครื่อง และสลับกับการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพผู้ป่วยหรือCPR?อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพจะมาถึง โดยการช่วยเหลือควรทำภายใน?3-5?นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามมีมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินญี่ปุ่น (Japan Emergency medical Foundation (JEMF)) ได้ตั้งคณะทำงานทำการวิจัยเพื่อพิจารณาแนวทางการติดตั้งและการใช้งานเครื่อง AED อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการประกาศใช้แนวทางดังกล่าวไปแล้วในประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง สพฉ. ได้นำแนวทางและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับประเทศไทย ซึ่งสถานที่ติดตั้งเครื่อง AED เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะพิจารณาจากสถานที่ที่ประชาชนโอกาสเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน อาทิ สถานีรถไฟ สถานีรถโดยสารประจำทาง สนามบิน ท่าเรือ บนเครื่องบิน และการขนส่งมวลชนที่มีระยะทางไกล (รถไฟหรือเรือโดยสาร) ฟิตเนส เซ็นเตอร์ สปอร์ตคลับ หรือ สนามกีฬาและการแข่งขันกีฬาจำนวนคนมาก ๆ รวมถึงสนามกอล์ฟ ห้างสรรพสินค้า และย่านร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีคนมาใช้บริการประมาณ 5,000 คนต่อวัน หรือสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สถานที่สาธารณะขนาดใหญ่ ศูนย์กลางชุมชน สถานพยาบาล หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ อพาร์ทเมนท์ที่มีผู้สูงอายุมากกว่า 50 คน โรงเรียน โดยเฉพาะสนามกีฬาของโรงเรียน บริษัท โรงงาน และสถานที่ให้บริการที่มีคนพลุกพล่าน สถานบันเทิง โรงแรมหรือศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ รวมทั้งพื้นที่ห่างไกลจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เช่น เกาะ หรือหุบเขาลึก
สรปุได้ว่าการติดตั้งเครื่อง AED นั้นจะเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสลับกับการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือ CPR ดังนั้นหน่วยงานดังกล่าวจึงควรจัดหาเครื่อง AED มาติดตั้งไว้ในพื้นที่ของตนเอง และควรมีการจัดอบรมการใช้งานเครื่อง AED ให้กับพนักงานของตนเองให้ใช้เครื่องมือดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านคำแนะนำของบุคลากรทางแพทย์หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถโทรแจ้งขอคำแนะนำได้ที่สายด่วน 1669 ทันที