กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เน้นส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษา ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษา เพื่อยกระดับสถานศึกษาทั่วไป ไปสู่สถานศึกษาพอเพียง และเป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ตั้งเป้าในปี 2558 มีศูนย์การเรียนรู้ฯ ครบทุกจังหวัด ทั้งในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และครบทุกเขตพื้นที่ ภายในปีการศึกษา 2560
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า "รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในทุกมิติและทุกระดับของการบริหารราชการแผ่นดิน และการพัฒนาประเทศ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการนั้น ได้มุ่งเน้นพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาอย่างบูรณาการ โดยเน้นให้สถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาลงสู่การปฏิบัติ และเกิดการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาอย่างจริงจังมีรูปธรรมเกิดขึ้นให้ชัดเจน"
"การขับเคลื่อนฯ สืบเนื่องมาจากกระแสพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่ปวงชนชาวไทยได้เริ่มรับรู้และเรียนรู้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และน้อมนำมาเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต หมายถึงหลักพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนพื้นฐานจิตใจที่มีคุณธรรม และใช้ความรู้อย่างรอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง เพื่อให้ชีวิตสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ที่ทุกคน ทั้งประเทศ สามารถนำไปใช้ในทุกกิจกรรม ทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล มั่นคง และยั่งยืน"
"กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ให้เห็นผลทางปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยประกาศจัดตั้ง “ศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” ขึ้น ภายใต้กรอบการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อน และสนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสม และมีคณะทำงานกำกับติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า "สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาด้านการศึกษา โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการบริหารสถานศึกษาและการจัดการศึกษาในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทั้งผู้บริหารและคณะครูให้เป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง พร้อมทั้งสนองนโยบายของรัฐในการขับเคลื่อนค่านิมยมหลัก 12 ประการ โดยดำเนินงานควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพสถานศึกษา เพื่อยกระดับสถานศึกษาทั่วไป สู่สถานศึกษาพอเพียง และโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาตามลำดับ"
“โครงการนี้ได้รับการสนับสนุน จากมูลนิธิยุวสถิรคุณ ในการส่งเสริมด้านวิชาการและการพัฒนาความเข้มแข็งของศึกษานิเทศก์และบุคลากร โดยการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สพฐ. ให้เกิดการขับเคลื่อน การจัดการศึกษาตามหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เพื่อเชื่อมเครือข่ายทุกสังกัด ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดประสิทธิภาพ จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีสถานศึกษาพอเพียง รวมทุกสังกัด ทั้งสิ้น 14,602 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ทั้งหมด 47 แห่งรวมทุกสังกัด เป็นศูนย์ฯ ในสังกัด สพฐ. 39 แห่ง กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย และกำหนดเป้าหมาย ขยายผลให้มีศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาให้ครบทุกจังหวัดทั้งในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายในปีการศึกษา 2558 และให้ครบทุกเขตพื้นที่ ภายในปี 2560"
“การจัดตั้งศูนย์ขับเคลื่อนการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียงด้านการศึกษานั้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนขยายผลในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในทุกระดับชั้น เกิดกระบวนการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวันและการปฏิบัติภารกิจในทุกมิติ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานของทุกโรงเรียน สู่ระดับสากล โดยเฉพาะการมีหลักคิดวิเคราะห์ ที่เป็นทักษะที่ต้องการของคนไทยทุกวัย เกิดกระบวนการปรับเปลี่ยนจนเป็นวิถีชีวิต ช่วยปลูกฝังและบ่มเพาะผู้เรียน เด็กและเยาวชน ให้มีจิตสำนึกและอุปนิสัย “พอเพียง” (Sufficiency Mindset and Behavior) จะได้สามารถดำรงตนและดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าไปได้อย่างสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน” นายกมล กล่าว