กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--พม.
พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่ารัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐในระยะเฉพาะหน้า เพื่อเร่งสร้างอาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคง ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง การทารุณกรรมต่อแรงงานต่างชาติ การท่องเที่ยวที่เน้นบริการทางเพศและเด็กและปัญหาคนขอทาน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาขอทานแบบยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นเหตุถึงปลายเหตุ
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ดำเนินการจัดระเบียบคนขอทานในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ไปแล้ว ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ ๑๔ – ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ และวันที่ ๑๙ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โดยมีการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และองค์กรเอกชนต่างๆดำเนินงานจัดระเบียบคนขอทาน และพบว่า
มีผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พุทธศักราช ๒๔๘๔ จำนวนทั้งสิ้น ๔๓๑ คน เป็นขอทานไทย จำนวน ๑๙๐ คน และขอทานต่างด้าว จำนวน ๒๔๑ คน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กำหนดจัดระเบียบคนขอทานครั้งที่ ๓ ในวันที่ ๒๖ – ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการจัดระเบียบคนขอทานพร้อมกันทั่วประเทศและเพื่อให้การดำเนินงานจัดระเบียบคนขอทานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ใช้หลัก ๓ p เป็นแนวทางการดำเนินการ ได้แก่ ๑) การบังคับใช้กฎหมาย (Policy) เช่น การปรับปรุงกฎหมาย การจัดระเบียบจัดทำทะเบียนข้อมูล พัฒนาฐานข้อมูล ขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์
๒) การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) เช่น การจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ การคัดแยกเหยื่อจากการ ค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ ฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพในสถานสงเคราะห์ และ ๓) การป้องกัน(Prevention) ให้ศึกษาวิจัยพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม รณรงค์ประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณะ ให้ความรู้ด้านกฎหมาย สิทธิการเข้าถึงบริการด้านกฎหมาย สิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมเครือข่าย พม.เป็นแกนนำเฝ้าระวัง ทำ MOU เครือข่ายแก้ปัญหาขอทานต่างด้าว
"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการจัดระเบียบคนขอทานและบูรณาการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่าย โดยจะดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องทุกเดือนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการขอทานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะสามารถนำไปสู่การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ต่อไป” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวท้าย