กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2556 ตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนที่ 8 ก วันที่ 24 มกราคม 2556
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากการปฏิบัติการฝนหลวง เป็นบริการสาธารณะในการทำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม ป่าไม้ และเขื่อนหรือพื้นที่ เก็บกักน้ำ อันเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภารกิจดังกล่าวรวมถึงการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนแม่บท เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำใน ชั้นบรรยากาศ การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของประเทศ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนและการดัดแปรสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการให้บริการด้านการบินและการสื่อสารเพื่อสนับสนุนในภารกิจด้านการเกษตรและอื่น ๆ โดยปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารจัดการและความรับผิดชอบของสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมควรยกฐานะ โดยจัดตั้งเป็นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมีความคล่องตัวใน การบูรณาการภารกิจร่วมกับส่วนราชการอื่น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ในวันที่ 24 มกราคม 2558 นี้ จะเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 2 ซึ่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเสียสละทุ่มเทประดิษฐ์คิดค้นวิธีการทำ ฝนหลวงจนประสบความสำเร็จ และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์น้อมนำกรรมวิธีการทำฝนหลวงภายใต้สิทธิบัตรของพระองค์ไปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในลักษณะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร เพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรม เติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆ รวมทั้งบรรเทาความรุนแรงของภัยธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หมอกควัน และพายุลูกเห็บ เป็นต้น
กิจกรรมในวันที่ 24 มกราคม 2558 ประกอบด้วย การประกอบพิธีทางศาสนาตามประเพณี การให้การต้อนรับผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดี ณ อาคารกรมฝนหลวง และการบินเกษตรภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีการจัดประชุมสัมมนาในหัวข้อเรื่อง “ยุทธศาสตร์และมาตรการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ปี 2558” โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายชวลิต ชูขจร) ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา และให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการของกรมจำนวนประมาณ 200 นาย โดยใช้ห้องประชุมอาคารชั้น 8 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นสถานที่จัดสัมมนา
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งและภัยธรรมชาติในปี 2558 นี้ นายวราวุธ ขันติยานันท์ อธิบดีคนแรกของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้คาดการณ์ว่าสถานการณ์น่าจะมีความรุนแรงกว่า ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเข้าสู่ช่วงปรากฎการณ์เอลนิโญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งระหว่างต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ สถาบันด้านอุตุนิยมวิทยา ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้คาดหมายว่าปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าเกณฑ์ปกติในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ประกอบกับพฤติกรรมการเผาป่าและเศษซากพืชในไร่นาทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในระยะจากนี้ไป จะทำให้เกิดการสะสมของหมอกควันซึ่งเป็นอนุภาคขนาดเล็กจำนวนมากที่มีปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือ และยังมีผลทำให้โอกาสการเกิดฝนในธรรมชาติลดลงด้วย ซึ่งจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ภัยแล้งมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ อธิบดีวราวุธ ได้ฝากถึงภาคราชการและเอกชนให้ช่วยกันรณรงค์และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการเพื่อลดการเผาป่าและเศษซากพืชในไร่นาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ในส่วนการเตรียมความพร้อมของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อสู้กับสถานการณ์ ภัยแล้งและปัญหาหมอกควันในช่วงฤดูแล้งนี้ อธิบดีวราวุธ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ ขอนแก่น ระยอง และสุราษฎร์ธานี เตรียมความพร้อมและติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดแล้ว ถึงแม้ว่าตามสถิติข้อมูลความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในระดับที่เมฆก่อตัวจะเข้าสู่เกณฑ์ 60% ที่สามารถทำฝนได้จะต้องเป็นเดือนมีนาคมเป็นต้นไป แต่ก็มี บางวันและบางพื้นที่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีลมสอบเข้าหากันทำให้ความชื้นสูงขึ้นก็จะสามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณดังกล่าวได้ โดยขณะนี้ได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้แล้ว 2 ชุดที่สนามบินนครสวรรค์เพื่อเตรียมปฏิบัติภารกิจนี้แล้ว
สำหรับแผนปกติตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 จะเริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจนครบ 10 หน่วย ตามอัตรากำลังที่กรมมีอยู่และรวมทั้งหน่วยบินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศ โดยในภาคเหนือจัดตั้งหน่วยที่เชียงใหม่ และพิษณุโลกหรือตาก ภาคกลางจัดตั้งหน่วยที่นครสวรรค์ และลพบุรีหรือกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งหน่วยที่ขอนแก่น และนครราชสีมาหรืออุบลราชธานี ภาคตะวันออกจัดตั้งหน่วยที่ระยอง และจันทบุรีหรือสระแก้ว ภาคใต้จัดตั้งหน่วยที่ หัวหิน และสุราษฎร์ธานี หรือนครศรีธรรมราช
อธิบดีวราวุธ ได้กล่าวถึงมาตรการการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการว่า ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มโครงการจัดตั้งอาสาสมัครฝนหลวงในทุกภาคของประเทศ โดยมีตัวแทนเกษตรกรในระดับอำเภอเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครฝนหลวงและผ่านการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้จะ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานข้อมูลทั้งในด้านการรายงานสภาพการเพาะปลูกและบริเวณพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ตลอดจนรายงานผลการตกของฝนจากการปฏิบัติการฝนหลวงในแต่ละวัน รวมไปถึงความสามารถในการสังเกตเมฆที่เหมาะสมในการทำฝนหลวงและแจ้งตำแหน่งเป้าหมายให้หน่วยที่อยู่ใกล้ที่สุดขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้ทันเวลา ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญและพร้อมดำเนินการเต็มรูปแบบในปีนี้