กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll)
ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง
สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชน
ต่อมติถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี และ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อมติถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี และ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 630 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 22 - 24 มกราคม 2558
ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาเกือบร้อยละร้อยละ คือร้อยละ 94.0 ระบุติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 5.2 ระบุติดตามน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.8 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ทั้งนี้เมื่อสอบถามต่อไปว่าสนใจติดตามข่าวไหนมากกว่ากัน ระหว่างข่าวการตามจับมือปืนยิงสุนัขหน้าห้างอิมพีเรียลเวิร์ล ลาดพร้าว กับข่าวการลงมติถอดถอนนักการเมือง นั้น พบว่า ร้อยละ 63.8 ระบุสนใจข่าวการลงมติถอดถอนนักการเมืองมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 32.1 ระบุสนใจพอๆกัน และร้อยละ 4.1 ระบุสนใจข่าวการตามจับมือปืนยิงสุนัขมากกว่า
ประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้เกี่ยวกับกรณีการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.7 ระบุเห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 14.3 ระบุไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ในกลุ่มแกนนำชุมชนที่เห็นด้วยกับผลการลงมติให้เหตุผลว่า จะได้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม /บริหารประเทศไม่ดี/เป็นผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ/เห็นความเสียหายชัดเจน/เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียม/ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน ให้เหตุผลว่า เป็นการโยนความผิด/ทุกฝ่ายต้องรับผิดชอบร่วมกัน/ข้อมูลยังไม่ชัดเจนเพียงพอ/ยังไม่มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง/เป็นนโยบายที่มีประโยชน์ต่อคนจน /เป็นการกีดกันทางการเมือง/กลัวว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งบานปลายอีก เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามต่อไปถึงความเชื่อมั่นว่าจะได้นักการเมืองที่มีจิตสำนึกที่ดีมากขึ้นหรือไม่นั้น พบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 63.7 ระบุเชื่อมั่นว่าจะเป็นอย่างนั้น ในขณะที่ร้อยละ 36.3 ระบุไม่เชื่อมั่น และเมื่อสอบถามต่อไปถึงความเชื่อมั่นว่าจะได้รัฐบาลที่ดีเข้ามาบริหารประเทศหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 65.2 ระบุเชื่อมั่นว่าจะเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ร้อยละ 34.8 ระบุไม่เชื่อมั่น
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ค้นพบจากการสำรวจ คือ เมื่อสอบถามถึงพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ซึ่งผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 41.3 ระบุจะไม่เลือกพรรคไหนเลย ในขณะที่ร้อยละ 33.3 ระบุจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 8.0 ระบุจะเลือกพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 17.4 ระบุเลือกพรรคอื่นๆ
สำหรับในประเด็นความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการทารุณกรรมสัตว์นั้น คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นคำถามถึงการเคยพบเห็น/รับรู้ว่ามีการทารุณกรรมสัตว์ในหมู่บ้าน/ชุมชนของตนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 18.8 ระบุเคยพบเห็น/เคยรับรู้ว่ามี ในขณะที่ร้อยละ 81.2 ระบุไม่เคยพบเห็น/ไม่เคยรับรู้ว่ามี และเมื่อสอบถามต่อไปถึงประเภทของสัตว์ที่เคยพบเห็น/รับรู้ว่าถูกทารุณกรรมมากที่สุดนั้นพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 ระบุเป็นสุนัข รองลงมาคือร้อยละ 4.8 ระบุเป็นช้าง ร้อยละ 3.2 ระบุวัว และนอกจากนี้ยังพบเห็นการทารุณกรรมสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น แมว ไก่ชน หมู ควาย เต่า ลิง เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อการให้ความสำคัญหรือความตื่นตัวในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสังคมไทยปัจจุบันนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 70.7 ระบุคิดว่ามีการให้ความสำคัญ/มีความตื่นตัวมากพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 29.3 ระบุยังไม่มากพอ
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณา คือเมื่อสอบถามแกนนำชุมชนกรณีการรับรู้รับทราบต่อ พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมานั้น ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 71.7 ทราบข่าวจากสื่อมวลชนต่างๆ ว่ามีการประกาศใช้ พรบ.ดังกล่าวนี้แล้ว ในขณะที่ร้อยละ 28.3 ระบุยังไม่ทราบ อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงรายละเอียดใน พรบ.ดังกล่าวนี้นั้นพบว่า แกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 72.4 ระบุยังไม่ทราบรายละเอียดของ พรบ.ฉบับนี้ ในขณะที่ร้อยละ 27.6 ระบุรับทราบรายละเอียดแล้ว
และเมื่อสอบถามต่อไปถึงความจำเป็นของการเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการมี พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ เพื่อให้ประชาชนรับรู้รับทราบข้อมูลนั้น แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 89.4 คิดว่ามีความจำเป็นที่ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ ในขณะที่ร้อยละ 10.6 ระบุคิดว่าไม่จำเป็น
ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ค้นพบจากการสำรวจในครั้งนี้ คือเมื่อสอบถามความมั่นใจของแกนนำชุมชนต่อ พรบ.ป้องกันการรุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์ในการลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์ในสังคมไทยนั้น พบว่า ร้อยละ 85.3 เชื่อมั่นว่าจะช่วยลดปัญหาลงได้ ในขณะที่ร้อยละ 14.7 ระบุไม่เชื่อมั่น
ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
โทรศัพท์086 - 971 7890 หรือ 02-540-1298