กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
บีโอไอเผยสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นคำขอรวม 3,469 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 2,192,700 ล้านบาท เฉพาะเดือนธันวาคม มียอดขอรับส่งเสริมจำนวน 2,092 โครงการรวมมูลค่า 1,428,200 ล้านบาท ชี้โครงการส่วนใหญ่มีแผนจะขยายการลงทุนอยู่แล้ว จึงตัดสินใจยื่นคำขอรับส่งเสริมก่อนที่นโยบายใหม่จะมีผลบังคับใช้ สำหรับปี 2558 บีโอไอจะมุ่งดึงดูดโครงการที่มีคุณค่าต่อประเทศ และต่อระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก
นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 ที่ผ่านมา ว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 3,469 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2,192,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่า สูงที่สุดในรอบเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับการขอรับส่งเสริมในปี 2556 พบว่า มีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 117
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุดอันดับหนึ่ง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีจำนวน 799 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 822,162 ล้านบาท อันดับสอง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก จำนวน 503 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 430,091 ล้านบาท อันดับสาม กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ จำนวน 734 โครงการ เงินลงทุนรวม 325,864 ล้านบาท อันดับสี่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 806 โครงการ เงินลงทุนรวม 271,039 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ พบว่า ในเดือนธันวาคม 2557 มีการยื่นขอรับส่งเสริมมากถึง 2,092 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 1,428,200 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่มีแผนที่จะลงทุนหรือขยายการลงทุนในอนาคตอยู่แล้ว จึงเร่งยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเร็วขึ้น เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเดิม ก่อนที่นโยบายใหม่ที่สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมบางกลุ่มลดลง จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2558
ลักษณะการเร่งยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนก่อนที่นโยบายจะสิ้นสุดลง เคยเกิดขึ้นเช่นกันในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสิ้นสุดระยะเวลาให้ส่งเสริม ได้มีโครงการที่เข้าเงื่อนไขยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาเป็นจำนวนมากถึง 2,582 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 1,464,200 ล้านบาท
ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ ระดับหลายพันล้านบาทถึงหมื่นล้านบาทที่ยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาในเดือนธันวาคม 2557 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค เช่น โรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ การขนส่งทางอากาศ เขตอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมโลหะ โดยเฉพาะการผลิตเหล็กขั้นปลายน้ำ เป็นต้น
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 บีโอไอจะมุ่งเน้นส่งเสริมโครงการที่มีคุณค่าต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย หรือมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศทั้งด้านวิจัยพัฒนา และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศให้มากขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของบีโอไอจะอยู่ที่คุณค่าทางโครงการมากกว่าจำนวนโครงการหรือเม็ดเงินลงทุน
ส่วนการเดินทางไปชักจูงการลงทุนในต่างประเทศในปีนี้ นอกจากจะเป็นการเดินทางไปชี้แจงถึงรายละเอียดของนโยบายใหม่แล้ว บีโอไอได้กำหนดกลุ่มบริษัทเป้าหมายที่สอดคล้องกับทิศทางนโยบายใหม่ในประเทศต่างๆ ไว้แล้ว เช่น บริษัทในกลุ่มวิจัยพัฒนา หรือบริษัทในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เป็นต้น