กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทีจีส์
เมื่อเร็วๆ นี้ โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จัดงานแถลงข่าว “เอชพีวี ไวรัสร้ายที่ผู้หญิงต้องรู้” เนื่องในโอกาสที่เดือนมกราคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์โรคมะเร็งปากมดลูกในต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีภัยใกล้ตัวของผู้หญิง เพราะเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก พร้อมรณรงค์ให้หญิงไทยหันมาให้ความใส่ใจในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกให้น้อยลง โดยได้เชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวชมาร่วมให้ความรู้ พร้อมแขกรับเชิญพิเศษมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การดูแลตัวเอง ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “โรคมะเร็งปากมดลูกยังคงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทย โดยพบผู้ป่วยใหม่ปีละ 8,184 ราย[i] นั่นก็เป็นเพราะโรคมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถอยู่ในร่างกายได้นานถึง 10 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้นโดยไม่แสดงอาการใดๆ ดังนั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อไวรัสเอชพีวีอยู่ในร่างกาย ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้หญิง 4 ใน 5 คน ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต เพราะเชื้อไวรัสเอชพีวีติดต่อได้ผ่านทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ผู้หญิงยังคงเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชพีวีได้ ถึงแม้ว่าจะมีคู่นอนเพียงคนเดียว หรือใช้ถุงยางอนามัย เพราะถุงยางอนามัยสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะไม่ได้ครอบคลุมอวัยวะเพศชายทั้งหมด นอกจากนั้น ผู้หญิงยังอาจติดเชื้อเอชพีวีได้แม้ว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์มาหลายปีแล้ว หรือเคยฉีดวัคซีนแล้ว แต่เคยรับเชื้อมาก่อนหน้านั้น”
สำหรับ ‘เชื้อไวรัสเอชพีวี’ หรือ Human Papilloma Virus (HPV) เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก ถึงร้อยละ 99 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด[ii] ซึ่งโดยปกติร่างกายคนเราจะสามารถขจัดเชื้อออกไปเองได้ แต่หากร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีออกไปได้ ก็มีโอกาสจะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง โดยผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากร่างกายเริ่มแสดงอาการผิดปกติออกมา นั่นหมายถึงว่ามะเร็งเริ่มเข้าระยะลุกลามแล้ว ทำให้การรักษาทำได้ยากขึ้นเช่นกัน โดยเชื้อไวรัสเอชพีวีมีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ ซึ่งส่วนมากเป็นสายพันธุ์ที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” เพราะไม่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่มีอยู่ 14 สายพันธุ์ ที่เป็นสายพันธุ์ที่มี “ความเสี่ยงสูง” เพราะเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูก โดยในเชื้อเอชพีวีจำนวน 14 สายพันธุ์นั้น ‘สายพันธุ์ 16’และ ‘สายพันธุ์ 18’ เป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก โดยพบได้ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70[iii]
“จากการวิจัยพบว่าผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี สายพันธุ์ 16 และ 18 มีความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นรอยโรคก่อนมะเร็งสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีเชื้อดังกล่าวถึง 35 เท่า[iv] และยังพบอีกว่า 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง จะพบรอยโรคก่อนมะเร็งแม้ว่าผลตรวจแพปสเมียร์จะออกมาเป็นปกติก็ตาม เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยแพปสเมียร์ เป็นการตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในปากมดลูก ซึ่งมีค่าความไวในการตรวจพบต่ำ ทำให้อาจตรวจไม่พบระยะรอยโรคก่อนมะเร็ง[v],[vi] โดยจากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก มีผลตรวจแพปสเมียร์ปกติ[vii],[viii] จึงเห็นได้ว่าการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปสเมียร์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกอีกต่อไป” น.พ.ณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติม
เนื่องจากผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี มักไม่แสดงอาการออกมา ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test)เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และยังสามารถระบุการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน และที่สำคัญเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอเป็นการตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็ง ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นที่เซลล์ปาก มดลูกและนั่นหมายถึงก่อนที่มะเร็งจะเกิดขึ้น1 เพราะเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ มีความไวในการตรวจจับรอยโรคก่อนมะเร็งได้ดีและสูงกว่าวิธีดั้งเดิมเช่นแพปสเมียร์ (Pap smear) และ วีไอเอ )VIA)
“ดังนั้น การรณรงค์ให้สตรีเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA Test) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเทสต์ตรวจเอชพีวี ดีเอ็นเอมีความไวในการตรวจพบ ทำให้แพทย์สามารถมั่นใจผลที่ได้ จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจพบเชื้อได้ในระยะเริ่มแรกและนำไปสู่การป้องกันมะเร็งปากมดลูกในระยะยาวได้ ซึ่งจากสถิติพบว่าหากตรวจพบเร็ว การรักษาในระยะก่อนมะเร็งลุกลามมีโอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 98 จึงช่วยลดอุบัติการณ์และอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ในขณะที่หากผลตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (ผลเป็นลบ) ผู้หญิงก็สามารถเว้นระยะการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปได้ถึง 3 ปี”
ด้านแขกรับเชิญพิเศษ คุณเอมี่ กลิ่นประทุม ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์และวิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกว่า “ก่อนหน้านี้ ตัวเอมี่เองก็เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ไม่ทราบเรื่องของเชื้อเอชพีวี จนกระทั่งได้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตอนนั้นไปเพราะเพื่อนชวนไปไม่ได้คิดอะไร แต่พอตรวจพบเราก็ตกใจ แต่โชคดีที่เราพบในระยะเริ่มแรก ซึ่งยังไม่ได้พัฒนาไปเป็นมะเร็ง คุณหมอก็แนะนำให้เอมี่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดเอาเซลล์ที่ผิดปกติออกไป ซึ่งหลังจากผ่าตัดเราก็หายเป็นปกติและยังคงมีลูกได้ จากนี้เอมี่เพียงแค่ต้องไปตรวจคัดกรองเป็นประจำ รวมไปถึงการดูแลร่างกายให้แข็งแรงด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายค่ะ จะเห็นได้ว่าเอมี่ตรวจพบเร็ว ก็รักษาได้เร็ว ป้องกันโรคลุกลามได้ ดังนั้น อยากให้ผู้หญิงทุกคนมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันนะคะ ก่อนที่จะสายเกินไปค่ะ”
สำหรับผู้หญิงที่อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีและโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถหาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.hpvactnow.com