ผลสำรวจ CAC ชี้บริษัทเอกชนส่วนใหญ่พร้อมผลักดันนโยบายต้านโกง

ข่าวทั่วไป Tuesday January 27, 2015 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--Thai Institutue of Directors ดร. บัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการ แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้นำภาคธุรกิจเกี่ยวกับการทุจริตในประเทศไทยว่า 74.5% ของบริษัทผู้ตอบแบบสอบถามมีความพร้อมมากถึงมากที่สุดที่จะผลักดันให้เกิดการต่อต้านทุจริตภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ และ 78% ของผู้ตอบเชื่อว่าภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการเพื่อต่อต้านการทุจริตในอีก 1-2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ CAC เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการ CAC ได้มีมติให้การรับรองบริษัทที่รับรองตนเองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดเพิ่มขึ้นอีก 18 บริษัท ทำให้จำนวนบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CAC เพิ่มขึ้นเป็น 96 บริษัท จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารและกรรมการบริษัทเอกชนจำนวน 425 คนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2557 พบว่า 54.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าบริษัทที่ตนเองสังกัดมีความพร้อมมากที่จะผลักดันให้มีการวางกลไกป้องกันการทุจริตภายในองค์กรอย่างเป็นระบบในขณะที่อีก 20.0% คิดว่าบริษัทของตนมีความพร้อมมากที่สุด ส่วนอีก 18.0% คิดว่ามีความพร้อมปานกลาง โดยมีแค่ 2.3% เท่านั้นที่คิดว่ามีความพร้อมน้อย และอีก 4.4% คิดว่ามีความพร้อมน้อยที่สุด ในแง่บทบาทของภาคเอกชนในการต่อต้านทุจริตในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าภาคเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในการต่อต้านทุจริตสูงขึ้น และ 9% มองว่าจะมีบทบาทสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่มีเพียง 3.7% ที่มองว่าบทบาทจะน้อยลง และ1.1% มองว่าบทบาทจะน้อยลงมาก โดยที่เหลืออีก 16.2% มองว่าภาคเอกชนจะมีบทบาทเท่าเดิม “ผลการสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภาคเอกชนของไทยมีความพร้อม และกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหาการทุจริตโดยไม่ได้คิดจะปล่อยให้เป็นภาระของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ความตื่นตัวของภาคเอกชนในเรื่องนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะดำเนินการคู่ขนานไปกับภาครัฐในการขจัดปัญหาการทุจริตในประเทศไทย” ดร. พนัส สิมะเสถียร ประธาน CAC กล่าว สำหรับมุมมองเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของปัญหาการทุจริตในประเทศไทยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา 28.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าปัญหารุนแรงขึ้นมาก และ 10.8% มองว่ารุนแรงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ 31% มองว่าปัญหาได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเล็กน้อย และอีก 2.5% มองว่าได้รับการแก้ไขดีขึ้นอย่างมาก โดยที่เหลืออีก 25.1% มองว่าความรุนแรงของปัญหายังคงเท่าเดิม ทั้งนี้ 48.9% ของผู้ที่มองว่าปัญหาการทุจริตในรอบปีที่ผ่านมารุนแรงมากขึ้นคิดว่าเป็นผลมาจากการบังคับใช้กฎหมายและการเอาผิดกับผู้ทุจริตยังไม่เข้มแข็ง และ 40.9% คิดว่ามาจากกระบวนการให้บริการภาครัฐที่ยังขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในขณะที่ 29.1% คิดว่าเป็นผลของการที่กฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งต่างๆ ขาดความชัดเจนและเปิดช่องให้มีการทุจริต และอีก 28.4% คิดว่าเป็นเพราะภาคเอกชนและประชาสังคมยังมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาน้อย ส่วนผู้ที่มองว่าปัญหาการทุจริตได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นในปีที่ผ่านมา 44.9% คิดว่าเป็นผลมาจากการที่ภาคเอกชนและประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และ 44.7% คิดว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายและการเอาผิดผู้ทุจริตมีความเข้มงวด ในขณะที่ 33.6% คิดว่ามาจากการปรับปรุงกระบวนการให้บริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากขึ้น และ 22.8% คิดว่ามาจากการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งต่างๆ ให้มีความชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น “การที่ผู้นำในภาคธุรกิจหลายท่านมองว่ามองว่าปัญหาการทุจริตยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าหลายฝ่ายจะเข้ามาช่วยกันพยายามแก้ไขแล้ว แสดงให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่ใหญ่และฝังรากลึกในสังคมไทย และเราทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขในทุกๆ ด้านอย่างจริงจังมากกว่านี้” ดร. บัณฑิต กล่าว CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ เมื่อสิ้นปี 2557 มีจำนวนบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CAC แล้ว 406 บริษัท (เป็นบริษัทจดทะเบียน 212 บริษัท) เพิ่มขึ้นถึง 138 บริษัทจาก 268 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2556 รายชื่อบริษัท 18 แห่งที่ผ่านการรับรองในไตรมาสที่ 4/57 1. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยจำกัด (มหาชน) 2. บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) 4. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด 5. บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ จำกัด (มหาชน) 6. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 7. บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด 8. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด 9. บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 10. บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) 11. บริษัทที่ปรึกษา เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) 12. ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 13. บริษัท ธนชาต เทรนนิ่ง แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 14. บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 15. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสแซท พลัส จำกัด 16. บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ จำกัด (มหาชน) 17. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 18. บริษัท ไทย ออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการสำรจความคิดเห็นผู้นำภาคธุรกิจเกี่ยวกับการทุจริตในประเทศไทยได้จาก: http://www.thai-iod.com/th/news-detail.asp?id=191 สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CAC และรายชื่อของบริษัทที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ และผ่านการรับรองได้จาก: http://www.thai-iod.com/th/projects-3-detail.asp?id=2 Background CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดและคู่ขนานไปกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for Private Enterprise หรือ CIPE จากสหรัฐอเมริกา และ UK Prosperity Fund จากสหราชอาณาจักร โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ