โพลล์สำรวจความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมือง

ข่าวทั่วไป Tuesday January 27, 2015 17:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังอยู่ในช่วงของการพิจารณาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญกับการปฏิรูปการเมืองไทย โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 -23 มกราคม พ.ศ. 2558 ศ.ศรีศักดิ์กล่าวสรุปว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,153 คน ประมวลผลข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.48 ขณะที่ร้อยละ 49.52 เป็นเพศชาย กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 30.7 และร้อยละ 25.67 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 -34 ปี และ 35 - 44 ปีตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 34.95 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนคิดเป็นร้อยละ 31.57 และข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจคิดเป็นร้อยละ 24.28 ในด้านความสนใจติดตามข่าวเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องทางการเมือง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองให้ความสนใจ/ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองบ้างเป็นบางประเด็นซึ่งคิดเป็นร้อยละ 36.69 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 26.67 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจ/ติดตามเล็กน้อย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.61 ระบุว่าตนเองสนใจ/ติดตามโดยละเอียด โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 20.03 ยอมรับว่าตนเองไม่ให้ความสนใจ/ติดตามเลย ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าที่มาของสมาชิกวุฒิสภาควรมีสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าการแต่งตั้ง/สรรหาซึ่งคิดเป็นร้อยละ 34.61 รองลงมาร้อยละ 27.06 มีความคิดเห็นว่าควรมีที่มาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.52 มีความคิดเห็นว่าควรมีสัดส่วนที่มาจากการเลือกตั้งและจากการแต่งตั้ง/สรรหาเท่าๆ กัน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.5 และร้อยละ 4.77 มีความคิดเห็นว่าควรมีที่มาจากการแต่งตั้ง/สรรหามากกว่าจากการเลือกตั้งและมาจากการแต่งตั้ง/สรรหาเพียงอย่างเดียวตามลำดับ โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.54 ไม่แน่ใจ ส่วนในด้านความคิดเห็นต่อตัวนายกรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 56.55 มีความคิดเห็นว่าไม่จำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.44 ที่มีความคิดเห็นว่าจำเป็น ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.84 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 64.09 มีความคิดเห็นว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60.19 เห็นด้วยหากจะมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ในบางกรณีเพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง ขณะเดียวกันในด้านการกำหนดโทษนักการเมืองที่ทุจริต/ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น หากพบว่านักการเมืองทุจริต/กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 38.68 มีความคิดเห็นว่าควรตัดสิทธิ์ทางการเมืองกับนักการเมืองผู้นั้นตลอดชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องยุบพรรค ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.41 ที่ระบุว่าควรตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตพร้อมยุบพรรค ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.51 มีความคิดเห็นว่าควรยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองในระยะเวลาหนึ่ง และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 4.51 ที่ระบุว่าควรตัดสิทธิ์ทางการเมืองระยะเวลาหนึ่งโดยไม่ต้องยุบพรรค โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.89 ไม่แน่ใจ สำหรับความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 41.89 ระบุว่าตนเองตั้งความหวังกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบันว่าจะทำให้ระบบการเมืองไทยดีขึ้นอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.76 ระบุว่าตั้งความหวังมาก ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.65 ระบุว่าตั้งความหวังน้อย และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.7 ที่ระบุว่าตนเองไม่ได้ตั้งความหวังเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 61.75 มีความคิดเห็นว่าหลังการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ในปัจจุบันแล้วจะไม่มีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพการเมือง/นักการเมืองไทยให้ดีขึ้นกว่าในอดีตได้ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 61.06 ไม่เชื่อว่าหลังจากการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ในปัจจุบันนี้แล้วจะไม่เกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองอีก และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.86 เห็นด้วยว่าควรให้ประชาชนได้ทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.39 ไม่เห็นด้วย และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.75 ไม่แน่ใจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ