กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังอนุญาตให้ 3 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ให้กับชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ เข้าพบเพื่อหารือและนำเสนอข้อเรียกร้องด้วยกัน 4 ประเด็น คือ 1) ปัญหาการเปิดการค้าเสรีอาเซียน (AEC) โดยให้คงระบบแบ่งปันผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2557 และการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ ให้คงการจำหน่ายแบบวิธีที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งกำหนดปริมาณและราคาการจำหน่าย เพื่อประโยชน์ทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรวมทั้งผู้บริโภค ในการสร้างความมั่นคงและการมีเสถียรภาพแก่ผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ซึ่งการกำหนดราคาภายในอาจมีการยืดหยุ่นตามภาวการณ์ที่เหมาะสม
2) นโยบายการขยายพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยการกำหนดรายได้เพิ่มให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง และการสนับสนุนโครงสร้างการส่งเสริมการผลิตพื้นฐานให้เพียงพอ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการลดต้นทุนการปลูก และการบริหารจัดการในไร่อ้อย เช่น แหล่งน้ำ ปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืช และโรคแมลง เป็นต้น 3) การปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้อ้อยมีราคาสูงขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยที่เป็นน้ำตาลทรายหรืออาหารให้เป็นพลังงาน เช่น เอทานอล ไฟฟ้า เป็นต้น และ 4) ขอสนับสนุนเพิ่มราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2557/58 ตันละ 1,222.05 บาท ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นกำหนดไว้ตันละ 900 บาท ที่ 10 ซี.ซี.เอส.
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า ในเชิงบริหารจัดการสินค้าอ้อย มีกระทรวงที่รับผิดชอบด้วยกัน 3 กระทรวงคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งข้อเสนอในเรื่องของราคา โดยให้สนับสนุนการขอกู้ยืมเงินจากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไปเพิ่มรายได้ในอัตราร้อยละ 60 บาท/ตัน จะมีการนำเข้าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เพื่อนำเข้าเสนอ ครม. พิจารณา ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะได้นำข้อเสนอของชาวไร่อ้อยไว้เพื่อดำเนินการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่อไป