กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 61.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- IEA ปรับลดประมาณการปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ Non-OPEC ในปี 2558 ลง 350,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อน มาอยู่ที่ระดับ 57.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน0.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะเดียวกัน ได้ปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันดิบในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน0.91ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย IEA มองว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องและใช้เวลาสักระยะที่ราคาจะเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตที่เติบโตช้าลงในครึ่งปีหลัง 2558
- Baker Hughes Inc บริษัทให้บริการด้านขุดเจาะน้ำมันดิบรายงาน ผลสำรวจจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (OilRig) ทั่วสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ม.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 49 แท่น มาอยู่ที่ 1,317 แท่น ต่ำสุดในรอบ 2ปี และเป็นการลดลงต่อเนื่อง 7 สัปดาห์
- Reuters รายงานผู้ค้าน้ำมันดิบอาทิบริษัท Trafigura, Vitol, Gunvor, Koch และ Shell เช่าเรือบรรทุกน้ำมันดิบ20 ลำ ปริมาณกว่า 40 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจากปริมาณการเก็บรวมในสัปดาห์ก่อนที่ 25 ล้านบาร์เรล) เพื่อเก็บน้ำมันดิบบนเรือเป็นเวลา 12 เดือน เพื่อรอจำหน่ายช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
- Reuters รายงานแหล่งน้ำมันในนอร์เวย์ที่ผลิตน้ำมันมานาน (Matured Field) ต้องหยุดดำเนินการก่อนกำหนดเพราะราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากปัจจุบัน 1.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมาอยู่ที่ 1.39ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2563
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- นาย Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรปประกาศมาตการอัดฉีดเงินกว่า 1 ล้านล้าน ยูโร (1.137 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของชาติสมาชิกวงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนเริ่มต้นเดือน มี.ค. 58 สิ้นสุด ก.ย. 59 ส่งผลให้ค่าเงินสหรัฐฯแข็งแกร่งขณะที่เป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมันดิบในระยะสั้น ทั้งนี้หากมาตรการการอัดฉีดเงินครั้งนี้ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นผลบวกกับอุปสงค์น้ำมันในระยะยาว
- The Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย เดือน พ.ย. 57 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 7.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 7 เดือน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 397.9 ล้านบาร์เรล เป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 14 ปีและเมื่อเปรียบเทียบระดับการสำรองน้ำมันดิบในช่วงต้นปี ถือว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบอย่างน้อย 80 ปี
- CFTC รายงาน กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสถานะการถือครอง (Net Long Position) สัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาด ICE ลอนดอนและตลาด NYMEX สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4,198 สัญญา มาอยู่ที่ 225,926 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนเล็กน้อยจากข่าวการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ Abdullah แห่งซาอุดีอาระเบีย ผู้สันทัดกรณีชี้ว่ากษัตริย์ Salman กษัตริย์พระองค์ใหม่ของซาอุฯ จะดำเนินตามแนวนโยบายด้านน้ำมันดิบของกษัตริย์ Abdullah กษัตริย์พระองค์ก่อน เฉกเช่นเดียวกันกับครั้งที่กษัตริย์ Abdullah สืบต่อพระราชบัลลังก์จากกษัตริย์ Fahud เมื่อปี 2548 อย่างไรก็ตาม จุดนี้แสดงให้เห็นความแปลกต่างของสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย ซึ่งครั้งนั้นที่กษัตริย์ Fahud สิ้นพระชนม์ นักลงทุนในตลาดน้ำมันแตกตื่นเป็นการใหญ่จนส่งให้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ทะลุสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ในขณะนั้น) ที่ 61เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ดุลอำนาจและอิทธิพลของซาอุดีอาระเบียในการกำหนดความเป็นไปในวงการน้ำมันเสื่อมถอยลง เมื่อกำลังการผลิตส่วนเหลือ (Spare Capacity) ของซาอุดีอาระเบียถูกทอนความสำคัญลงเมื่อไม่สามารถ (หรือไม่ถูกนำออกมาใช้) ในการปรับสมดุลอุปสงค์อุปทานน้ำมันโลก เนื่องจากบทบาทของการเติบโตของน้ำมันดิบจากนอกกลุ่ม OPEC มีน้ำหนักมากกว่า ดังเช่นที่ตลาดหันไปจับตาการลดงบลงทุนผลิตน้ำมันดิบของประเทศนอกกลุ่ม OPEC มากกว่า กระทั่งว่าการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์แห่งซาอุฯ แทบมิได้มีผลในการผลักดันราคาน้ำมันดิบดังเช่นแต่ก่อน ขณะเดียวกัน ทางด้านบริษัทน้ำมันรายใหญ่ต่างลดงบประมาณปี 2558 ไม่ว่าจะบริษัท BP บริษัท ConocoPhillips และล่าสุดบริษัท Total ซึ่งไม่เพียงลดงบลงทุนในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันดิบเท่านั้น แต่ยังลดจำนวนพนักงานลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งในทางหนึ่ง เป็นสัญญาณว่าการเติบโตของอุปทานน้ำมันดิบจากนอกกลุ่ม OPEC จะชะลอตัวลง แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง บริษัทน้ำมันเหล่านี้ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ก่อเกิดการจ้างงานมากมายทั่วโลก การปลดพนักงานออกจำนวนมากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งย้อนกลับมาบั่นทอนอุปสงค์น้ำมันดิบในที่สุด ในส่วนของกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคของราคาน้ำมันดิบ สัปดาห์นี้ ICE Brent อยู่ที่ $46.2- 49.2เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI NYMEX อยู่ที่ $43.8-47.8เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 42.2 - 45.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในอินเดีย เดือน ธ.ค. 2557 สูงขึ้น 48,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.1% มาอยู่ที่ 0.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ ขณะที่Platts รายงานจังหวัด Punjab และ Khyber-Pakhtunkhwa ในปากีสถานเกิดขาดแคลนน้ำมันเบนซินเนื่องจากกระแสน้ำบริเวณท่า Karachi เชี่ยวกราก ทำให้เรือขนส่งไม่สามารถเทียบท่าได้ ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมัน Pak Arab (กำลังการกลั่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน) ในจังหวัด Punjab อยู่ระหว่างปิดซ่อมแซม อย่างไรก็ตาม Platts คาดการณ์ บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Pertamina) จะนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน ก.พ. 2558 ประมาณ 9ล้านบาร์เรล เกือบคงที่เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2558 และ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันในปี 2557 ที่ 10 ล้านบาร์เรล เนื่องจากฝนฟ้าคะนองลดการสัญจรทางถนนช่วงปลายปี 2557 ส่งผลให้มีปริมาณสำรองตกค้างอยู่พอสมควร อีกทั้งรายงาน Arbitrage ของน้ำมันเบนซินจากยุโรปและอินเดียสู่เอเชียตะวันออกเปิดต่อเนื่อง แม้อุปสงค์ในเอเชียเหนือจะลดลงในช่วงฤดูหนาว และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.48% มาอยู่ที่ 11.01 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.7-57.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากปริมาณความต้องการใช้ Diesel ในอินเดีย เดือน ธ.ค. 2557 สูงขึ้น 42,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9% มาอยู่ที่ 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Platts คาดFormosa Petrochemical Corp. จะไม่เหลือน้ำมันดีเซลออกขายในเดือน ก.พ. 2558 เนื่องจากได้ขายไปเป็นจำนวนมากแล้วในเดือน ม.ค. 2558 และจำเป็นต้องเก็บสำรองไว้เพื่อเตรียมการก่อนโรงกลั่นน้ำมัน Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค. 2558 อย่างไรก็ตาม Yanbu Aramco Sinopec Refining Co. (YASREF) ซึ่งเป็นโรงกลั่นแห่งใหม่ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างซาอุดีอาระเบียและจีน ประเดิมส่งออกน้ำมันดีเซล จากโรงกลั่นน้ำมัน Yanbu (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุดีอาระเบียเป็นผลิตภัณฑ์แรกของโรงกลั่น เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2558 หลังเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2557 ขณะที่ Platts รายงาน ยอดใช้ Gasoilในบังคลาเทศลดลง 3 เท่าตัวมาอยู่ที่ 89,400 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุปิดเมืองประท้วงตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2558เป็นต้นมา ประกอบกับ PAJ รายงานปริมาณสำรอง Middles Distillates เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.43% มาอยู่ที่ 32.58 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 59.2-62.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล