กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--อสมท
ผอ.อสมท แจงการประมูลเครื่องส่งโทรทัศน์ระบบดิจิทัลโปร่งใสทุกขั้นตอน หลังบริษัทร่วมประมูล ร้อง “ล็อกซเลย์” ผู้ชนะ ผิดสเปกสำคัญ ภายหลังตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพบไร้ผิด สั่งเดินหน้าอนุมัติจัดซื้อ ซึ่งต่ำกว่าวงเงินงบประมาณถึง 225.6 ล้านบาท ยืนยันพร้อมติดตั้งครบ 39 สถานีหลัก ภายในกลางปี 2558 ซึ่งจะครอบคลุม ร้อยละ 80 ของจำนวนครัวเรือน ตามเป้า กสทช.
นายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกระบวนการจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล จำนวน 1 ระบบ และจัดซื้อและติดตั้งรายการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ จำนวน 1 โครงการ ว่า
“จากที่ อสมท ได้ยกเลิกจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลของ อสมท เมื่อกลางปี 2557 ซึ่งคณะกรรมการจัดหาพัสดุโดยวิธีพิเศษได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีผู้เสนอราคารายใดเสนอสิ่งของถูกต้องตามข้อกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ ภายหลังจากได้ยกเลิกการจัดซื้อดังกล่าว ฝ่ายบริหารของ อสมท มีความเห็นว่าเพื่อให้การให้บริการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงให้ดำเนินการจัดเช่าอุปกรณ์เครี่องส่งเพื่อใช้งานในระหว่างดำเนินการจัดซื้อใหม่”
ความคืบหน้าล่าสุด ของการจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล อสมท ได้ประกาศโครงการจัดซื้อฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 57 งบประมาณ 440 ล้านบาท กำหนดราคากลาง 318.5 ล้านบาท โดยมีผู้สนใจซื้อซองประกวดราคา จำนวน 11 ราย ซึ่งในการประกวดราคาครั้งนี้ อสมท ได้เพิ่มกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นด้าน “ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง” (Term of Reference : TOR) จากบริษัทต่างๆ จำนวน 2 ครั้ง เพื่อนำข้อคิดเห็นที่ได้มาปรับปรุง TOR ก่อนดำเนินการประกวดราคา ผลปรากฏว่ามีผู้มายื่นซองประกวดราคา จำนวน 5 ราย ได้แก่ บมจ. อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น (IRCP), บจ. ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี, บมจ. ล็อกซเล่ย์, บจ. สามารถคอมเทค และ บจ. เซน เทคโนโลยี
โดย อสมท ได้แบ่งวิธีพิจารณาการประกวดราคา เป็น 3 ซอง คือ ด้านคุณสมบัติบริษัท, ด้านเทคนิคอุปกรณ์ และด้านราคา ซึ่งคณะกรรมการรับซองฯ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มายื่นซองฯ ทั้ง 5 ราย ปรากฎว่าเอกสารการยื่นซองครบถ้วน จึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการเปิดซองฯ ดำเนินการเปิดซองเทคนิค ซึ่งมีบริษัทที่ผ่านการพิจารณาทางด้านเทคนิค อุปกรณ์ ทั้งสิ้น 3 ราย คือ บมจ.ล็อกซเล่ย์ ,บจ. สามารถคอมเทค และ IRCP
นายศิวะพร กล่าวอีกว่า “ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2557 คณะกรรมการเปิดซองฯ ได้ทำการเปรียบเทียบด้านราคาของบริษัททั้ง 3 ราย คือ บมจ. ล็อกซเล่ย์ , บจ. สามารถคอมเทค และ IRCP ที่ผ่านการพิจารณาทางด้านเทคนิค อุปกรณ์ ปรากฎว่า บมจ. ล็อกซเล่ย์ เสนอราคาต่ำสุดและอยู่ในวงเงินงบประมาณ จึงได้ทำการต่อรองราคา โดย บมจ. ล็อกซเล่ย์ ได้มีหนังสือลดราคาแจ้งลดราคาลงอีกเป็นเงิน 273,308.- บาท จากเดิมที่เสนอราคารวมเป็นเงิน 214,673,308.- บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นราคาที่เสนอหลังจากต่อรองราคา เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 214,400,000.- บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยคณะกรรมการเปิดซองฯ ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนและต่อรองราคาเพื่อประโยชน์ต่อ อสมท มากที่สุดแล้ว จึงเห็นควรจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล จำนวน 1 ระบบและรายการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ จำนวน 1 โครงการ เป็นเงิน 214,400,000.- บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นเงิน 15,008,000.- บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 229,408,000.- บาท จาก บมจ. ล็อกซเล่ย์ โดยวิธีประกวดราคา ซึ่งต่ำกว่าวงเงินงบประมาณ 225,600,000.- บาท คิดเป็นร้อยละ 51.27 และต่ำกว่าราคากลาง 104,100,000.- บาท คิดเป็นร้อยละ 32.68”
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้นั้น ทำให้ อสมท ประหยัดงบประมาณลงถึง กว่า 200 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 45 จากการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ที่มีมูลค่าสูงถึง 419 ล้านบาท อีกทั้งวิธีการที่ใช้ในการดำเนินการครั้งนี้เป็นวิธีการประกวดราคา ซึ่งเป็นการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันด้านราคาและด้านคุณภาพ แตกต่างจากการดำเนินการครั้งแรก
สำหรับประเด็นที่ บจ. สามารถคอมเทค และ IRCP ในฐานะที่เป็นผู้เสนอราคาที่ยื่นซองประกวดราคาได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการเปิดซองฯเพื่อทบทวน การพิจารณาคัดเลือก บมจ. ล็อกซเล่ย์ นั้น บจ. สามารถคอมเทค ทักท้วงในกรณีที่ บมจ. ล็อกซเล่ย์ เสนออุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์ยี่ห้อ NEC รุ่น DTU-70D ซึ่งมีค่า Modulation Error Rate (MER) > 32 dB ซึ่งไม่ผ่านข้อกำหนดด้านเทคนิค เพราะตามกำหนดของ อสมท จะต้องมีค่า MER ≥ 33 dB ส่วน IRCP มีข้อสงสัยใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ เครื่องส่งโทรทัศน์ ยี่ห้อเอ็นอีซี รุ่น DTU-70D–M ที่ บมจ.ล็อกซเล่ย์เสนอนั้น เครื่องรุ่นดังกล่าวยังไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปและอาจยังไม่มีจำหน่ายที่ใดมาก่อน ซึ่งขัดต่อข้อกำหนดของ อสมท ที่ต้องการเครื่องส่งฯ ที่ได้มาตรฐานของผู้ผลิตที่จัดจำหน่ายไปทั่วโลก และอีกประเด็น คือ เรื่องการแปลงสัญญาณภาพและเสียงของอุปกรณ์ Satellite Receiver ของระบบเชื่อมโยงสัญญาณดาวเทียม (IRD)
จากประเด็นข้อร้องเรียนของทั้ง 2 บริษัท อสมท ได้ชี้แจงว่า บมจ.ล็อกซเล่ย์ เสนอเครื่องส่งโทรทัศน์ยี่ห้อ NEC รุ่น DTU-70D ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกันกับที่ไทยพีบีเอสใช้และมีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป และแคตตาล็อกที่ บมจ.ล็อกซเล่ย์ นำเสนอมาถูกต้องตามข้อกำหนด ทั้งนี้ อสมท จะให้ บริษัทผู้ผลิตยืนยันความถูกต้องของแคตตาล็อกอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนประเด็นเรื่องการแปลงสัญญาณภาพและเสียงของอุปกรณ์ Satellite Receiver ของระบบเชื่อมโยงสัญญาณดาวเทียม (IRD) ที่ IRCP ร้องเรียนนั้น อสมท ชี้แจงว่าอุปกรณ์ Satellite Receiver ไม่ต้องฟังก์ชั่นในการถอดรหัส T2-MI Deframing to MPEG TS โดย อสมท ออกแบบให้ Satellite Receiver ทำหน้าที่เพียงผ่านสัญญาณที่รับมาจากสถานีต้นทางเพื่อส่งสัญญาณ T2-MI ไปยังเครื่องส่ง อีกทั้ง บมจ. ล็อกซเล่ย์ ได้เสนออุปกรณ์ Satellite Receiver ยี่ห้อ Ericsson รุ่น RX 8200 มิใช่รุ่น RS 8200 ตามข้อร้องเรียนของ IRCP นอกจากนี้ ผู้เสนอราคารายอื่นเสนออุปกรณ์ IRD ที่ไม่สามารถทำ T2-MI Deframing to MPEG TS ได้เช่นกัน และ อสมท ได้มีหนังสือชี้แจงบริษัทในประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนแล้ว
นายศิวะพร กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อกระบวนการจัดซื้อและติดตั้งระบบและอุปกรณ์สำหรับให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลฯ ครั้งนี้แล้วเสร็จ อสมท จะดำเนินการติดตั้งเครื่องส่งฯ ให้ครบ 39 สถานีหลัก ภายในกลางปี 2558 ซึ่งจะครอบคลุม ร้อยละ 80 ของจำนวนครัวเรือน ตามแผน กสทช.”