สวช.เตรียมจัดประชุมผู้ประพันธ์เพลงพื้นเมืองอาเซียน สร้างเพลงใหม่จากไสตล์ดนตรีอิสาน

ข่าวทั่วไป Thursday October 16, 1997 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ต.ค.--สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) แจ้งว่า ในระหว่างวันที่ 8-17 ธันวาคม ศกนี้ คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสนเทศ (ASEAN-COCI) ได้อนุมัติให้ประเทศไทย โดยสวช.เป็นเจ้าภาพ เตรียมการจัดโครงการประชุมปฏิบัติการผู้ประพันธ์เพลงพื้นเมืองอาเซียน (ASEAN Composers Forum on Traditional Music) ขึ้น โดยให้เชิญผู้แทนสมาชิกอาเซียนทั้ง 7 ประเทศ คือ บรูไน ดารุสซาลาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ประเทศละ 6 คน เข้าร่วมประชุม ซึ่งผู้แทนจากแต่ละประเทศจะประกอบด้วยนักวิชาการดนตรี 1 คน ผู้ประพันธ์เพลง 1 คน และนักดนตรีพื้นเมืองอีก 4 คน
ในส่วนประเทศไทย มี รศ.ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการ นาวาเอกณัฐ รัชกุล เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการและผู้ประพันธ์เพลง ผศ.ดร. เจริญชัย ชนไพโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและนักวิชาการดนตรี นักดนตรีพื้นเมือง 4 คน คือ อาจารย์ ทินกร อัตไพบูลย์ (โหวด) ธงชัย สามสี (ซอกันตรึม) กิตติวัฒน์ สัตนาโค (แคน) ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ (โปงลาง)
การประชุมปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ จะมีการนำคณะผู้แทนอาเซียนทั้งหมดเดินทางไปชมและฟังการแสดงดนตรีพื้นบ้าน ในภาคอิสาน ซึ่งมีความหลากหลาย และมีการแสดงออกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างเด่นชัด เพื่อให้ผู้แทนเหล่านี้ได้เห็นถึง ความแตกต่างและเกิดแรงบันดาลใจในอันที่จะประพันธ์เพลงขึ้นใหม่โดยอิสระตามสไตล์ของแต่ละประเทศ ซึ่งอาจจะใช้เพียงดนตรีพื้นบ้านของตนหรือผสมผสานกับดนตรีพื้นบ้านไทย ที่ได้ไปเห็นมาก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแนวคิดและการแสดงออกของแต่ละคน
สำหรับดนตรีพื้นบ้านที่คณะผู้แทนฯ จะไปชมครั้งนี้มี 4 จังหวัดคือ จังหวัดนครราชสีมา เป็นการไปฟังเพลงโคราช โดยคณะลำดวน จักราช จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นการไปชมมโหรีเขมร โดยป้าพลอย ราชประโคน จังหวัดสุรินทร์ เป็นการไปชม กันตรึม ซึ่งมีความหลากหลายจากคณะดนตรีพื้นบ้านที่มีความแตกต่างกันถึง 17 คณะ นำโดยคณะของนายพูน สามสี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการไปชมการแสดงโปงลาง โดยคณะของอาจารย์ทินกร อัตไพบูลย์ และคณะหมอลำของราตรี ศรีวิไล
อนึ่งการแสดงดนตรีพื้นบ้านส่วนใหญ่ครั้งนี้ จะเป็นการแสดงของผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเหล่านี้ได้ชื่นชมและเรียนรู้ถึงดนตรีพื้นบ้านอันเป็นภูมิปัญญาไทย
หลังจากตระเวนไปชมการแสดงดนตรีดังกล่าวแล้ว คณะผู้แทนทั้งหมดของแต่ละประเทศจะได้ประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ ตามที่กล่าวข้างต้น และจะเปิดการแสดงให้ผู้สนใจได้มารับฟังบทเพลงเหล่านี้ได้ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใน จ.อุบลราชธานี วันที่ 15 ธันวาคม 2540 ครั้งที่ 2 ในกรุงเทพฯ วันอังคารที่ 16 ธันวาคม 2540 นี้ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฟรี
จึงขอเชิญผู้ที่ชอบความแปลกใหม่และสนใจดนตรีพื้นบ้าน ได้เตรียมตัวเตรียมใจไปชมได้ โดยสำรองที่นั่งล่วงหน้า ได้ที่กองวัฒนธรรมสัมพันธ์ต่างประเทศ สวช. โทร 247-0013 ต่อ 410/409--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ