กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์
สาธิตรังสิตเปิดบ้านโชว์ศักยภาพผู้นำนวัตกรรมการศึกษาริเริ่มหลักสูตรการเรียนการสอนระบบทวิภาษาแบบองค์รวม (Unified Bilingual Curriculum)สายศิลปะการประกอบอาหาร(เชฟ) เป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ดร. อภิรมณ อุไรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า“การจัดงาน Open House 2015 ในปีนี้ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้องาน “นวัตกรรมการเรียนรู้ สู่อาชีพผู้นำแห่งอนาคต” ว่าเป็นการจัดงานเพื่อแนะนำโรงเรียนและหลักสูตรการเรียนการสอน ให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนนอกจากนี้จะมีการแนะแนวหลักสูตร 2 ภาษา “สายศิลปะและการประกอบอาหาร(เชฟ) (Culinary Arts Program) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย” โดยหลักสูตรดังกล่าวเกิดขึ้นจากแนวคิดที่มาจากการที่สังคมที่เปิดกว้างและอิสรภาพที่เด็กมีทำให้เด็กสามารถคิดได้เองว่าการเรียนในรายวิชาทั่วๆไปในระดับมัธยมปลายนั้นไม่มีความหมายสำหรับตนเอง ทำให้ไม่สนใจการเรียน ทางโรงเรียนจึงพยายามคิดหาโครงการ และหลักสูตรที่ตอบโจทย์สำหรับเด็กๆยุคปัจจุบัน นั่นคือ การเปิดหลักสูตรระดับมัธยมปลายที่ตรงกับความต้องการและความสนใจของเด็ก ประกอบกับการที่เมื่อพิจารณาเรื่องความสามารถของคนไทยโดยพื้นฐานก็พบว่ามีความชำนาญ และมีศิลปะในการประกอบอาหารเป็นทุนเดิมอยู่มาก อีกทั้งยังเป็นสาขาอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือได้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มที่แล้ว ทางโรงเรียนจึงทดลองเปิดสายศิลปะการประกอบอาหารซึ่งสอนให้เด็กๆมีความชำนาญในฐานะเชฟ หรือพ่อครัวเพื่อการพาณิชย์ไม่ใช่คหกรรม และได้สรรหาความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยรังสิต และผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหาร คือ ดร. ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ พร้อมกับได้เชิญอาจารย์ฯ มาเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียน และหลักสูตรนี้ด้วย
หลักสูตรนี้ถือว่ามีความแตกต่างและโดดเด่น เพราะเป็นหลักสูตรระดับมัธยมปลายสายสามัญทางด้านเชฟแห่งแรก และแห่งเดียวในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะส่วนมากมักมีการเปิดสอนเป็นระดับอาชีวะหรือเป็นคหกรรม ซึ่งเน้นการทำครัวหรือการฝีมือเพื่อใช้ในครัวเรือน หรือที่เรียกว่า Home Economics ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการแรงงานที่มีความเป็นสากลมากขึ้นทุกที รวมถึงความต้องการในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่ต้องการความชำนาญพิเศษด้วย หลักสูตรศิลปะการประกอบอาหารของโรงเรียนสาธิตฯ เน้นปูพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับพ่อครัวในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องปรับเปลี่ยนเก่ง และยอมรับความหลากหลายและความไม่แน่นอน จึงบูรณาการศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณิตศาสตร์อาหาร วิทยาศาสตร์อาหารและโภชนาการ รวมถึงงานบริการ เข้าไว้กับการประกอบอาหาร สำหรับการประกอบอาหารเองก็เริ่มพัฒนาความชำนาญตั้งแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือความรู้เกี่ยวกับเครื่องปรุงและเครื่องมือ นอกจากนั้นด้วยความที่เป็นหลักสูตรสองภาษา แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งสาระวิชาอื่นๆที่จำเป็นสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัย ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาพละศึกษา และวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ดังนั้นนักเรียนที่รู้ตัวภายหลังว่าไม่ชอบหรือไม่ได้อยากประกอบอาชีพพ่อครัวหรือแม่ครัว ก็สามารถเปลี่ยนสาขาวิชาเมื่อเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่สูญเสียโอกาสในการทดสอบต่างๆ สำหรับนักเรียนที่จบสาขาวิชานี้จะได้รับประกาศนียบัตรและผลการเรียนที่ถูกต้องตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ทุกหลักสูตร และทุกที่โดยเฉพาะด้านการประกอบอาหารและการโรงแรม ทั้งในหลักสูตรอุดมศึกษาไทยและนานาชาติ เพราะโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนทวิภาษา อย่างไรก็ตามนักเรียนสามารถเทียบเคียงรายวิชาจากการสอบ หรือ Credit from Exam กับหลักสูตรศิลปะและเทคโนโลยีการประกอบอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ถึง 21 หน่วยกิต หรือ 7 รายวิชา” ดร. อภิรมณ กล่าว
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นโรงเรียนที่ผู้นำระดับชาติ และระดับนานาชาติในอนาคต เข้ามารับการบ่มเพาะ กล่อมเกลาให้เติบโตขึ้นด้วยความสมดุล ทั้งทางร่างกายจิตใจ พลังความคิดและจินตนาการ ที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ทรงคุณค่า อยู่ในความดูแลของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทวิภาษาแบบองค์รวม หรือ Unified Bilingual Curriculum ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนในโรงเรียนโดยประมาณ 950 คน สัดส่วนครูไทยและต่างชาติ 50:50 มีขั้นตอนการผสมผสานกลมกลืนระหว่างการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ-ไทย ระดับอนุบาล 80:20 ระดับประถมศึกษา 70:30 และระดับมัธยมศึกษา 60:40 ซึ่งในสัดส่วนที่ ได้จัดให้กับนักเรียนในแต่ละระดับนั้นเป็นไปตามความจำเป็นและความสามารถในการเรียนรู้ภาษาของนักเรียน
โดยตั้งเป้าว่าท้ายสุดแล้วนักเรียนจะต้องมีความชำนาญในการใช้ทั้งสองภาษาในระดับที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรมชาติเสมือนเจ้าของภาษาเมื่อจบในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยที่วิชาการเรียนการสอนในทุกวิชาต้องมีการจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษาที่แท้จริงด้วย Curriculum โดยเปิดดำเนินการเรียนการสอนในระดับเตรียมอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปัจจัยที่ส่งผลให้โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิตประสบความสำเร็จในการพัฒนานักเรียนตามปรัชญา และอุดมการณ์ที่ได้กล่าวแล้วคือแนวทางการจัดการศึกษารูปแบบทวิภาษาแบบองค์รวม คือสอนภาษาแม่ คือภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควบคู่กันไปอย่างเท่าเทียม โดยใช้หลักสูตรแบบองค์รวมซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอนโดยการบูรณาการหลักสูตรนานาชาติระดับสากลเข้าเป็นเนื้อเดียวกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์จุดดี จุดเด่น ของแต่ละหลักสูตรแล้วผสมผสานกันหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบัน เรียกว่า หลักสูตรทวิภาษาแบบองค์รวมหรือ Unified Bilingual Curriculum โดยที่ครูผู้สอนภาษา ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนจะมีความสามารถในการใช้ทั้งสองภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงเรียนรู้ และเปิดกว้างต่อวัฒนธรรมนานาชาติอย่างทัดเทียมและ สอดคล้องกับยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างลงตัว
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต จะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปีการศึกษา 2558 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถยื่นใบสมัครหรือ สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตร โทร.0-2792-7500-4 หรือ www.facebook.com/SatitRangsitSchool
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านงานประชาสัมพันธ์)
โทร.02-284-2662 แฟกซ์. 02-284-2287,2291 www.kanokratpr.com
คุณกนกรัตน์ วีรานุวัตติ์ E-mail: Kanokrat@kanokratpr.com