กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--มทร.ธัญบุรี
Thai massage Interactive Teaching model for Visually Impaired หรือ หุ่นฝึกการเรียนนวดแผนไทยอัตโนมัติ สำหรับผู้พิการทางสายตา ผลงานของ “ก็อต” นายกฤษณะ โภควัฒน์ และ “เดี่ยว” นายฌานญาณ์บุณย์ กองค้า นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมี รศ.ดร.สุวรินทร์ ปัทมวรคุณ และ นายจตุรพิธ เกราะแก้ว เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย คว้าเหรียญทอง ในงานนิทรรศการ Seoul International Invention Fair 2014 (SIIF2014) ในงาน Korea Invention Promotion Association จัดขึ้น กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยมีผลงานกว่า 723 ผลงาน จาก 34 ประเทศเข้าร่วมในครั้งนี้
สมาชิกทั้งสอง เล่าว่า เนื่องจากการนวดไทยเป็นที่นิยมและถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดโรค เพื่อสนับให้ผู้พิการทางสายตาได้มีอาชีพนวด เป็นการให้โอกาสผู้พิการทางสายตาได้มีการฝึกฝนการนวดไทย เป็นเครื่องเรียนรู้แทนครู โดยผู้พิการทางสายตาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นส่วนตัว และเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์การนวดไทยอีกทางหนึ่ง สำหรับหลักการวิธีการและขั้นตอนการทำงานของ “หรือ หุ่นฝึกการเรียนนวดแผนไทยอัตโนมัติ สำหรับผู้พิการทางสายตา” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า ระบบจัดการความรู้พัฒนาอาชีพนวดแผนไทยเพื่อผู้พิการทางสายตา ตัวโปรแกรมมีเสียงจาก Text-to-speech เพื่ออ่านเนื้อหาให้คนตาบอดสามารถเรียนรู้ จดจำ และสามารถทบทวนความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งส่วนแรกนี้ ประกอบด้วย 1. ความรู้เกี่ยวกับสรีระและอวัยวะ 2. ความรู้การนวดแผนไทยส่งเสริมสุขภาพ 3. ความรู้การนวดแผนไทยบำบัดโรค และ 4 แบบทดสอบ
ส่วนที่ 2 คือ หุ่นฝึกการเรียนนวดแผนไทยอัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งภายในหุ่นจำลองทำการฝัง Microcontroller Board และมีการต่อสวิตซ์เชื่อมภายในตัวหุ่น มีไฟกระพริบตามเส้นในการสอนเรื่องเส้นประธานทั้งสิบสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งหุ่นจำลองจะบอกชื่อจุดต่างๆ เมื่อผู้พิการทางสายตาทำการกดสวิตซ์ที่ตัวหุ่น โดยไมโครชิพจะประมวลผลจากสวิตซ์ที่ทำการกด จะรับสัญญาณออกเสียงผ่านลำโพง โดยนำไปทดลองกับมูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด ในพระราชูปภัมภ์ฯ ซึ่งกำลังแจกจ่ายให้กับ 8 ศูนย์สำหรับผู้พิการทางสายตาต่อไป ขณะนี้กำลังจัดทำส่วนการสอนนวดแผนไทยส่งเสริมสุขภาพ และได้รับการจดสิทธิบัตรและจดลิขสิทธิ์ในส่วนโปรแกรมแล้ว การดำเนินการทั้งหมดของผู้ประดิษฐ์ผลงานนี้ เป็นไปภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เป็นสถานศึกษาของรัฐ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นกำไร แต่เป็นการทำเพื่อบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งในที่นี้คือผู้พิการทางสายตาอันเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ถือเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มีความเป็นต้นแบบ จัดทำขึ้นเป็นชิ้นแรกของไทยและโลก เป็นการประยุกต์เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประยุกต์กับการนวดไทย เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ประกอบอาชีพ