กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อผลงานเด่นกระทรวงและทางเลือกการเมืองของประเทศไทยในวันนี้: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 628 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 - 31 มกราคม 2558
ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาเกือบร้อยละร้อยละ คือ ร้อยละ 92.8 ระบุติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำอย่างน้อย 1-2 วันต่อสัปดาห์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 7.1 ระบุติดตามน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 0.1 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงผลงานของกระทรวงต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ โดยให้ระบุคะแนนจาก 0 ถึง 10 คะแนน พบว่า โครงการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ของกระทรวงแรงงาน ได้ 8.40 คะแนน โครงการช่วยเหลือคนพิการและผู้สูงอายุ ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ 8.36 คะแนน โครงการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ 8.30 คะแนน โครงการส่งเสริมปีการท่องเที่ยววิถีไทย ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรณรงค์ให้คนไทยเที่ยวไทยได้ 8.26 คะแนน โครงการแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในภาคประมงและภาคเกษตร ได้ 8.19 คะแนน โครงการแก้กฎหมายค้างาช้าง และนอแรด ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ 8.15 คะแนน โครงการสร้างรายได้ และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ได้ 7.91 และโครงการอบรมอาชีพเสริมด้านการเกษตรให้ประชาชน ได้ 7.87 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ตามลำดับ
หลังจากนั้น คณะผู้วิจัยได้สอบถามความรู้สึกของแกนนำชุมชนที่มีต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ได้นั้น พบว่ามีประมาณ 1 ใน 3 ของแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาระบุความรู้สึกกังวลว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจนำไปสู่การเกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายได้อีก ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกรายประเด็นพบว่า กรณีผลการลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แกนนำชุมชนร้อยละ 30.7 รู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 69.3 ระบุไม่รู้สึกกังวล สำหรับกรณีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 34.1 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 65.9 ไม่รู้สึกกังวล กรณีการเดินทางลงพื้นที่พบแนวร่วมเสื้อแดงในภาคอีสานของ คณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 35.1 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 64.9 ไม่รู้สึกกังวล กรณีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งคืนประชาธิปไตยให้คนไทยของสหรัฐอเมริกา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 33.5 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 66.5 ไม่รู้สึกกังวล และกรณี การออกมาแสดงท่าทีตอบโต้ประเทศสหรัฐอเมริกา ของคนไทยในสังคมนั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 30.1 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ ร้อยละ 69.9 ไม่รู้สึกกังวล
นอกจากนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงสิ่งที่อยากจะฝากบอกไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อความเข้าใจอันดีต่อกันนั้น พบว่า ร้อยละ 75.0 ระบุอยากบอกว่าขอให้เชื่อมั่นประเทศไทย ร้อยละ 61.8 ระบุขอบคุณที่เป็นห่วงคนไทย ร้อยละ 58.1 ระบุขอโอกาสให้ประเทศไทยและคนไทย ร้อยละ 56.8 ระบุคนไทยยังรักความสงบ ร้อยละ 54.5 ระบุคนไทยยังแก้ไขปัญหากันเองได้ นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่อยากจะบอกอื่นๆ ได้แก่ ขอบคุณสำหรับไมตรีและความช่วยเหลือที่มีให้ตลอด (ร้อยละ 54.0) เป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย (ร้อยละ 51.8) ขอให้เข้าใจ/เปิดใจยอมรับประเทศไทย (ร้อยละ 50.2) ประเทศไทยยังมีความปลอดภัย (ร้อยละ 40.3) และอยากบอกว่า เรายังเป็นเพื่อนกันเสมอ (ร้อยละ 36.3) ตามลำดับ
สำหรับความต้องการรับทราบเหตุผลของประเทศสหรัฐอเมริกา กรณีที่ออกมาเคลื่อนไหวแสดงความห่วงใยในสถานการณ์ของประเทศไทย และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งคืนประชาชนประชาธิปไตยนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 64.7 ระบุอยากทราบเหตุผลว่าทำไมเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ร้อยละ 35.3 ระบุไม่อยากทราบ
และเมื่อสอบถามความพึงพอใจต่อท่าทีของรัฐบาลไทยโดยนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการต่างประเทศที่ออกมาชี้แจงกรณีความห่วงใยของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 1.2 ระบุพอใจค่อนข้างน้อย-น้อย ร้อยละ 2.5 ระบุปานกลาง ทั้งนี้แกนนำชุมชนร้อยละ 72.0 ระบุพอใจค่อนข้างมาก-มาก และร้อยละ 24.3 ระบุพอใจมากที่สุด ทั้งนี้แกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาได้ให้คะแนนความพึงพอใจต่อท่าทีของรัฐบาลในกรณีดังกล่าว มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 8.39 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีที่ คสช. มีการเชิญตัวอดีตนักการเมืองมาปรับทัศนคติ ว่าจะทำให้ยุติการเคลื่อนไหว และทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่า มากกว่า 2 ใน 4 หรือร้อยละ 78.4 เชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ยุติการเคลื่อนไหว และทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 21.6 ระบุไม่เชื่อมั่นว่าจะเป็นเช่นนั้น
ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อสอบถามความความต้องการของแกนนำชุมชนต่อทางเลือกทางการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 85.6 ระบุต้องการให้รัฐบาลชุดนี้ทำงานต่อไปก่อน ในขณะที่ร้อยละ 14.4 ระบุต้องการให้มีการเลือกตั้ง และให้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน