กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ไอเดีย คอมมิวนิเคชั่น
‘บำรุงราษฎร์’ จัดอบรมแพทย์สรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ เพื่อรักษาภาวะ ‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’
จากความสำเร็จของเทคนิคการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ก้าวไปอีกขั้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้เล็งเห็นถึงการเผยแพร่ความรู้และวิทยาการทางการแพทย์เพื่อการรักษาไปสู่วงกว้างและมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดงาน ‘AF and Brugada Syndrome Substrate Ablation Course’ ซึ่งเป็นการฝึกอบรมแพทย์ในสาขาสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจจากนานาประเทศ ให้เข้ารับความรู้ผ่านการบรรยายและชมการสาธิตขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยจากห้องปฏิบัติการสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ (Electrophysiology Lab หรือ EP Lab) อันถือเป็นเทคโนโลยีทางการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นสูง เมื่อไม่นานมานี้ ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นพ.นำ ตันธุวนิตย์ ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมเปิดงาน พร้อมด้วย นพ.กุลวี เนตรมณี อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยากระแสไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม ใน ลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเทคนิคการรักษาด้วยวิธี Substrate ablation เป็นผู้นำในการบรรยายและสาธิตการรักษาผ่านปฏิบัติการจริง
เนื่องด้วยการรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่ซับซ้อน ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง หรือทำให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบันสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการใส่สายสวนเข้าไปยังตำแหน่งที่ผิดปกติ แล้วใช้กระแสไฟฟ้าที่มีความถี่ในระดับเดียวกับคลื่นวิทยุจี้ให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติได้ โดยใช้เครื่องมือพิเศษ 2 ตัวทำงานร่วมกัน คือ EP Record System ซึ่งมีหน้าที่เก็บสัญญาณกระแสไฟฟ้าหัวใจผ่านสายสวน รวมทั้งบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาฉายบนจอภาพ และ Navigation System ที่จะสร้างภาพ 3 มิติและสามารถบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติของหัวใจพร้อมทั้งระบุตำแหน่งได้ จึงช่วยให้แพทย์สามารถทำการจี้ไฟฟ้า ณ ตำแหน่งที่หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ตรงจุด แต่ทั้งนี้เทคนิคการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว นับว่ามีความซับซ้อนสูงในขั้นตอนการตรวจดูสัญญาณที่ค่อนข้างเล็กและมีความผิดปกติมาก จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงประสบการณ์ของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้