กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
การคมนาคมขนส่งของประเทศไทยกำลังเข้าสู่โหมดของการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานระบบรางที่สำคัญของประเทศ อยู่ในงบ 3 ล้านล้านบาท ล่าสุดรัฐบาลได้มีการเคาะงบเดินหน้าการลงทุนรถไฟไทย-จีน กว่า 4 แสนล้านบาท วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)ได้ร่วมกับ สภาวิศวกร เปิดเวทีความคิด เรื่อง “โอกาสและความท้าทายของวิศวกรไทยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศ” โดยเชิญกูรู 4 ท่าน คือ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.), ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI), ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร และดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี ผู้อำนวยการกองการวิชาการ การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น โดยมี ดร.กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงความสำคัญของระบบรางตออนาคตของประเทศไทยว่า “จากแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านการคมนาคมตามวิสัยทัศน์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคและเป็นธรรม มีโครงการหลักที่สนับสนุนวิสัยทัศน์ดังกล่าวคือ การพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการขนส่งทางบกและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ทั้งด้านระบบรถไฟทางคู่และระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้พัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงภาคการศึกษาวิจัยจะใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้เพื่อสั่งสมและบ่มเพาะความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสาขาระบบขนส่งทางรางยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงสร้างเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศให้ก้าวสู่ฐานการผลิตชิ้นส่วนด้านระบบรางของภูมิภาคควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านคมนาคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางทั้งในเมืองและเชื่อมโยงสู่นอกเมือง เชื่อมต่อภายในประเทศ สู่ประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากจะทำให้เกิดการสร้างงาน การลงทุนมหาศาล พร้อมทั้งการพัฒนาการบริหารสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันทางภาครัฐบาลได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟรางคู่ รถไฟกึ่งความเร็วสูง รถไฟฟ้าบนดิน รถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้งที่ก่อสร้างในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงจังหวัดต่างๆ รวมระยะทางมากกว่า 30,000 กิโลเมตร ผ่านย่านธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการพัฒนาสถานีและย่านธุรกิจของจังหวัดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 400 สถานี ประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมเพียงใดที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศ ทั้งในด้านการเตรียมบุคคลากร การลงทุน และวิศวกรรม จึงต้องเร่งการขยาย เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ช่างเทคนิคและบุคลากร สนับสนุนงานบริการอย่างจริงจังให้เพียงพอต่อความต้องการ เป้าหมายความต้องการกำลังคนในระบบขนส่งทางรางในปี 2563 จำนวน 31,000 คน (แบ่งเป็น วิศวกรจำนวน 6,000 คน, ช่างเทคนิคจำนวน 12,000 คน, เจ้าหน้าที่ประจำสถานีจำนวน 13,000 คน) ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องสนับสนุนแผนพัฒนากำลังคนด้านระบบการขนส่งทางรางระหว่างสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ กับ สวทน. อย่างจริงจัง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นการวางรากฐานการพัฒนากำลังคนด้านระบบขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบและการพัฒนาเครือข่ายของผู้มีบทบาทสำคัญ, ระยะที่สอง ปี 2557-2561 เป็นการพัฒนาศูนย์ฝึกอบรมทางเทคนิคสาขาวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางและสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลากร และระยะที่สาม ปี 2562-2573 เป็นการเชื่อมโยงและการขยายเครือข่ายการพัฒนากำลังคนระบบการพัฒนามาตรฐานและการผลิตเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม”
ดร.สุเมธ องกิตติกุล (Dr.Sumet Ongkittikul) ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ได้กล่าวถึงเรื่องแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ และการลงทุนระบบรางประเทศไทยว่า “รัฐบาลได้ทบทวนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบรางของประเทศไทยในกรอบเวลา 10-15 ปี รวมมูลค่า 3 ล้านล้านบาท การปฏิรูประบบรางเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานนี้ ที่รัฐบาลเห็นความจำเป็นเร่งด่วนและพัฒนาต่อเนื่องในระยะยาวควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อเร็วๆนี้กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้ารถไฟทางคู่ไทยจีน ซึ่งเป็นทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ในงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ประกอบด้วยรถไฟทางคู่ หนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด และกรุงเทพ-แก่งคอย รวมระยะทาง 873 กิโลเมตร ใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ปลายปี 2560 นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟไทยที่เป็นความร่วมมือกับจีนเป็นครั้งแรกและช่วยส่งเสริมเชิงยุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งเป็นการยอมรับว่าไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน
การปฏิรูปการบริหารจัดการและบุคลากรในระบบขนส่งทางราง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งมีปัญหาที่สั่งสมมาจากโครงสร้าง ในระบบถนนนั้นรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าสร้างถนนและประชาชนซื้อรถมาวิ่ง แต่ระบบรางนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยต้องลงทุนเองทำเองทุกอย่าง ดังนั้นจึงควรแยกโครงสร้างออกมาจากการประกอบการ แบ่งแยกระบบรางออกมา เช่นอาจจะตั้งเป็นกรมรางขึ้นมา ทั้งควรพิจารณาสิ่งใดที่เหมาะสมให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุน รวมทั้งต้องบริหารจัดการให้ค่าโดยสารมีความเหมาะสม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งทางรางจะเป็นกลไกสำคัญในการกระจายความสำเร็จไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยสามารถพัฒนาเป็นแบบจำลองในการพัฒนาประเทศผ่านการสร้างระบบขนส่งทางรางควบคู่กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเป็นระบบก็จะสามารถกระตุ้นการเติบโตในส่วนของภูมิภาคได้อย่างดี
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางคือการบริหารจัดการประสบการณ์ในการบริหารงาน การขาดแคลนแรงงานและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ”
ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา (Dr.Rattapoohm Parichatprecha) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้กล่าวถึงเรื่องการถอดบทเรียนการพัฒนาระบบรางจากประเทศเกาหลีใต้และแนวทางการพัฒนาสำหรับประเทศไทยว่า “ประเทศเกาหลีใต้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการพัฒนาระบบรางและบุคลากร ทั้งนี้เกาหลีใต้พัฒนาระบบรางมาพร้อมกับไทย แต่กลับทิ้งห่างประเทศไทยไปกลายเป็นหนึ่งในผู้นำนวัตกรรมระบบขนส่งทางรางของเอเชีย เนื่องจากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์และได้ผนึกความร่วมมือพร้อมจัดองค์กรให้ทำงานร่วมกันสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำๆหยุดๆ 5 องค์กรที่ทำงานร่วมกันมี 1.องค์กร KRRI หรือ Korea Railroad Research Institute ทำหน้าที่ผนึกกำลังนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทุกสาขาของประเทศมุ่งทำศึกษาวิจัยระบบรางและอุปกรณ์ 2.องค์กร KRNA หรือ Korea Rail Network Authority ทำหน้าที่วางแผนด้านวิศวกรรมและดูแลงานก่อสร้าง 3.องค์กร KORAIL หรือ Korea Railroad Corporation ทำหน้าที่ในด้านปฏิบัติการและควบคุมการเดินรถไฟ บริการผู้โดยสารและซ่อมบำรุงรักษา 4. KOTI (Korea Transport Institute) รับผิดชอบงานวิจัยด้านการขนส่งทุกชนิด การเชื่อมต่อของการขนส่งในรูปแบบต่างๆทั้งถนน ระบบราง อากาศและทางน้ำ โดยมุ่งเป้าด้านการพัฒนาระบบการขนส่งเพื่อสร้างการเชื่อมตอกันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 5.กลุ่มบริษัทภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมขนส่งทางรางทำหน้าที่ผลิตระบบรางและอุปกรณ์ ทั้ง 5 ส่วนนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภคและขนส่ง (Ministry of Land, Infrastructure & Transport) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการลงทุนพัฒนาระบบรางให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ และเกาหลีใต้ยังมีหน่วยงานวิจัยที่สำคัญเพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทุกชนิดอย่างเป็นระบบ รวมถึงการให้ทุนกับสถาบัน KRRI คือ National Council of Science and Technology (NST)
เกาหลีใต้ได้ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเครือข่ายรถไฟทั้งรถไฟในเมืองซึ่ง โครงข่ายรถไฟในกรุงโซลถือเป็นโครงข่ายรถไฟที่ยาวที่สุดในโลกมีความยาวรวมกันถึง 940 กิโลเมตร มีโครงการรถไฟระหว่างเมืองความยาวรวม 3,590 กิโลเมตร (รถไฟความเร็วสูง 368 กิโลเมตร ,รถไฟธรรมดา 3,221 กิโลเมตร) การพัฒนาด้านการขนส่งของเกาหลีใต้ยังควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบมีการวางแผนระยะยาว มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดสำหรับทุกโครงการอย่างชัดเจนเช่นในกรุงโซลมีการตั้งสถาบัน Seoul Institute มาทำการวิจัยเพื่อการวางแผนการขนส่งในกรุงโซล โดยตั้งเป้าให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลให้มากที่สุด สร้างรูปแบบการเดินทางโดยคำนึงถึง3ปัจจัยหลักคือ 1) คุณค่าในชีวิตมนุษย์ (Human) 2) การแบ่งปัน (Sharing) 3) สิ่งแวดล้อม (Environment) ทั้งนี้แผนดังกล่าวได้ถูกวางไว้ให้บรรลุผลในปี 2030 ปัจจุบันมีหลายโครงการที่ได้ทำและประสบผลสำเร็จเช่นโครงการ Road Diet การขนาดช่องจราจรสำหรับรถยนต์เพื่อนำไปเพิ่มขนาดทางเดินเท้าและทางจักรยานเป็นต้น รูปแบบการลงทุนถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบรถไฟในเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันทางรัฐบาลได้มุ่งเน้นการลงทุนแบบ PPP (Public Private Partnership) มากขึ้นโดยมีรูปแบบ PPP อยู่สองรูปแบบคือ BTO (Build-Transfer-Operate) และ RTL (Build-Transfer-Lease) ทั้งนี้ KRRI ถือเป็นกลจักรสำคัญในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองโจทย์จากภาครัฐและอุตสาหกรรม ด้วยแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ด้วยเงินทุนวิจัยและบุคคลากรที่เพรียบพร้อมทำให้เพียง 17 ปี เกาหลีใต้ได้พัฒนาตนเองจากผู้ใช้เป็นผู้ส่งออกสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟในระดับแถวหน้าของโลก โดยมีนวัตกรรมที่น่าสนใจอาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง HEMU 430X, Urban Maglev, Light Rail Transit System (LRTs), Automatic Guided Transit System (AGTs), and Bimodal and Mini Tram System เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาด้านการการขนส่งและจราจรทั้งปัญหาพลังงาน ต้นทุนโลจิสติกส์ ปัญหารถติด ปัญหาอุบัติเหตุ รวมถึงมลภาวะต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการใช้การขนส่งทางถนนถึงเกือบ 90% ถือเป็นความท้าทายที่ให้ทุกรัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะระบบขนส่งทางราง มีการวางแผนการลงทุนด้านระบบรางถึงกว่า 1 ล้านๆบาท มีโจทย์วิจัยและมีความต้องการองค์ความรู้มากมายเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการดังกล่าวอาทิเช่น การพัฒนาบุคคลากรด้านต่างๆเพื่อรองรับงานด้านระบบราง PPP การพัฒนาระบบขนส่งควบคู่กับการพัฒนาระบบผังเมือง (TOD) การพัฒนาชิ้นส่วนจากอุตสาหกรรมในประเทศ มาตรฐานด้านความปลอดภัยและการให้บริการ ตลอดจนการซ่อมบำรุงเป็นต้น จากบทเรียนของประเทศเกาหลีใต้ที่มีการสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบรางของประเทศจนสามารถกลายเป็นผู้ส่งออกในที่สุด ประเทศไทยควรใช้เป็นบทเรียนในการดำเนินการดังกล่าวควบคู่ไปกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้แผนการภาครัฐในเรื่องโครงการต่างๆยังขาดการบูรณาการงานวิจัยในประเทศอันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านระบบรางอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างหน่วยงานวิจัยด้านระบบรางโดยอาจใช้รูปแบบโครงสร้างแบบเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย เพื่อสร้างองค์ความรู้ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการประยุกต์ใช้ โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านโครงการเมกะโปรเจคที่กำลังจะเกิดขึ้น มีการบูรณาการระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง มิเช่นนั้นการลงทุนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นเราจะเป็นเพียง end user ผู้ซื่อสัตย์ที่อยู่ปลายน้ำเพียงรอซื้อผลิตภัณฑ์จากกลุ่มประเทศผู้ผลิตต้นน้ำเท่านั้น ทั้งหมดคือโอกาสและความท้าทายของ นักวิจัย วิศวกรและคนไทยทั้งประเทศว่าจะสามารถพัฒนาตนเองจากผู้ใช้ไปเป็นผู้ผลิตได้หรือไม่ในอนาคต เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องช่วยกันหาคำตอบ
ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี (Dr. Somprasong Suttayamully) รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและบริหารพื้นที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้กล่าวถึงเรื่องการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟฟ้าและวิถีชีวิตคนเมืองในอนาคตว่า “ผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารองค์กร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบราง ควรจะต้องเข้าใจลึกซึ้งถึงแนวคิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ว่าธุรกิจระบบขนส่งมวลชนระบบรางไม่ใช่เป็นแค่การสร้างงานระบบรางแล้วนำรถมาวิ่งแล้วจบ แต่เป็นการทำอย่างไรที่จะดึงประชาชนให้เข้ามาใช้ระบบรางที่เป็นระบบหลักให้ได้มากที่สุด นั่นคือผู้ใช้บริการต้องได้รับความสะดวกมากที่สุด เพื่อแลกกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางจากเดิมที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก เดิมประเทศของเราเติบโตมาพร้อมกับถนนและยานพาหนะส่วนตัว ที่อยู่อาศัยก็กระจัดกระจายไปเรื่อยตามแนวถนนและซอยย่อย ดังนั้นการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน โดยพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยรอบพื้นที่สถานี และต้องจัดให้มีบริการต่างๆให้ครบครันควบคู่กันไปตามหลักการการเติบโตอย่างชาญฉลาด
การทำให้เมืองอยู่รอบสถานี ทำให้ความหนาแน่นรอบสถานีถูกต้องเหมาะสม ไม่ใช่การสร้างความแออัด ทุกวันนี้ที่ดูแออัดเพราะมีนักพัฒนาไม่กี่รายที่ร่วมพัฒนาเมืองโดยเน้นหลักการเติบโตอย่างชาญฉลาด การพัฒนาเมืองอย่างชาญฉลาดถือได้ว่าเป็นการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเดินทางที่ซ้ำซ้อน ประชาชนสะดวกต่อการเดินทางมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง มีเวลาให้ครอบครัวและเวลาในการคิดหาความรู้ และสร้างจินตนาการเพื่อมาพัฒนาประเทศได้ ประชาชนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องมีแผนที่ชัดเจนและทำอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากนโยบายของรัฐบาลที่ต่อเนื่องและชาญฉลาด ผู้บริหารประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล มองไปอีก 20 ปีข้างหน้าให้ได้อย่าติดกับดักกับสภาพปัจจุบัน
รัฐจึงต้องลงทุนทำให้เกิดความสะดวกที่มากขึ้นในการเข้าใช้ระบบขนส่งมวลชน และทำให้ราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม ที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้าก็ต้องมีราคาที่เหมาะสมเกื้อกูลคนทุกชนชั้น เมื่อประชาชนทุกชนชั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากการมีเวลาเหลือให้กับครอบครัว ก็จะส่งผลต่อการทำงานได้ดีเช่นกัน ขณะนี้ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ใช้อัตราเวนคืนที่ดินในราคาที่เทียบเท่ากับภาคเอกชน และพยายามแก้ไขกฎระเบียบ ต่างๆ เพื่อให้ รฟม. มีบทบาทที่กว้างขึ้น และเพิ่มโอกาส และความสะดวกที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะได้มีส่วนในการพัฒนาและบริหารจัดการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า เช่นเดียวกับองค์กรรถไฟฟ้าของฮ่องกง ทำให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้นและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวมได้มากขึ้น รัฐเองก็อาจให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือกันพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เกื้อกูลผู้มีรายได้น้อยในรูปของการจัดเก็บภาษีให้สิทธิพิเศษสร้างอาคารได้สูงกว่าปกติ เป็นต้น”