กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
สคร.7 ห่วงช่วงอากาศเปลี่ยนประชาชนอาจป่วยด้วยอาการไข้หวัดได้ง่าย แนะป้องกันด้วยการดูแลสุขภาพตนเองและการมีสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาด ไอจามปิดปากปิดจมูก หากมีอาการหวัดให้สวมหน้ากากป้องกัน หยุดเรียน หรือหยุดงาน และพบแพทย์
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7) เปิดเผยว่า ช่วงนี้สภาพอากาศในประเทศไทยกำลังเปลี่ยน จากปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูร้อน ช่วงเช้าอากาศจะเย็นอาจมีหมอกลง แต่ช่วงบ่ายอากาศจะร้อน ประกอบกับขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดการณ์ว่าอาจจะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ขึ้นในวงกว้าง จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัด ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 31 ม.ค. 2558 พบผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 115 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มที่ป่วยมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 0-4 ปี จำนวนผู้ป่วย 37 ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 45 - 54 ปี จำนวน 13 ราย ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุบลราชธานี มุกดาหารและนครพนม ตามลำดับ
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า ผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการมักนำด้วยเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วย ภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ โดยการรักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน ให้นอนหลับพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ให้ดื่มน้ำ และสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นในกรณีที่ต้องไปยัง ที่สาธารณะ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือ มีอาการรุนแรงให้พบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาให้ยาต้านไวรัส ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้มีโรคอ้วน หากมีอาการสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ให้รีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากการได้ยาต้านไวรัสจะทำให้อาการป่วยหายได้เร็วและไม่รุนแรง ในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 1 คนในสถานที่ที่คนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สำนักงานต่างๆ แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดทำงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติ และให้ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ อย่างเช่น ลูกบิดประตู ราวบันใด โต๊ะอาหาร ฯลฯ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยา ทำความสะอาดทั่วไป อย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง
“โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันโรคได้ด้วยตนเอง เช่น การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานาน โดยไม่จำเป็น และ ติดตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ดูแลและคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสตัวหรือข้าวของเครื่องใช้ผู้ป่วย ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง หลังจากดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422" นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย