กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--กสทช.
วาระการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 3/2558 วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ มีประเด็นเด่นที่น่าจับตา ทั้งเรื่องการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. ... เรื่อง บมจ. ทีโอที จำกัด ขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตและเสนอแผนการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพื่อนำไปให้บริการต่อหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน รวมถึงวาระเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค ทั้งกรณีผู้บริโภคประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ดี โดยถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างที่มีการร้องเรียนปัญหา และกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศเนื่องจากถูก Hack ระบบ
วาระพิจารณาร่างประกาศดาวเทียมสื่อสาร
วาระที่คลาดสายตาไม่ได้เลยในการประชุม กทค. ครั้งนี้ คือเรื่องการพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. ... ซึ่งเป็นเรื่องที่คาราคาซังมานานและร่างประกาศดังกล่าวจดๆ จ้องๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. มาหลายระลอก แต่ก็เป็นโรคเลื่อนมาเรื่อยๆ
กิจการดาวเทียมสื่อสารของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาด โดยผู้ให้บริการช่องสัญญาณมีเพียงบริษัทไทยคมเพียงรายเดียว ขณะที่การยกร่างประกาศดังกล่าวก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย ทั้งเรื่องหน่วยงานใดกันแน่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเป็น ITU Administrator เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลวงโคจร เรื่องผู้ประกอบการฝ่ายใดต้องเป็นผู้ประมูลใช้คลื่นความถี่ ระหว่างผู้ประกอบการดาวเทียมที่อยู่ในอวกาศหรือผู้ประกอบการสถานีภาคพื้นดิน รวมถึงนโยบายเรื่อง Landing Rights ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งถ้าหากอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติสามารถเข้ามาใช้สิทธิวงโคจรของประเทศ หรือสามารถเปิดให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมกับสถานีภาคพื้นดินในประเทศ ก็จะช่วยให้ตลาดบริการโครงข่ายและช่องสัญญาณดาวเทียมเกิดการแข่งขัน ส่งผลให้อัตราค่าบริการถูกลง คุณภาพบริการดีขึ้น การพิจารณาวาระนี้ของที่ประชุม กทค. จึงมีความสำคัญอย่างมาก ว่าจะเป็นการเปิดประตูนำไปสู่การแข่งขันกันมากขึ้น หรือตอกตะปูปิดโลงให้เกิดการผูกขาดในกิจการประเภทนี้กันต่อไป
วาระ บมจ. ทีโอที จำกัด ขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตและเสนอแผนการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 900MHz
สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 บมจ. ทีโอที จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 และเสนอแผนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นฝ่ายนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้บริการต่อไปเอง
อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในการให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ก็สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้นต้องคืนคลื่นความถี่ให้กับ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลต่อไป เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่บัญญัติไว้ให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ นั่นหมายถึง บมจ. ทีโอที ไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่ต่อไปได้ โดยต้องคืนคลื่นความถี่กลับมาที่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่
เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด สิ้นสุดลง หนนั้น บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้ทำแผนขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ถึงสำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 11/2556 ก็มีมติชี้ว่า สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดลงด้วยเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง หนนี้จึงคาดว่ามติที่ประชุม กทค. ไม่น่าสวนทางแตกต่างออกไป
ที่น่าลุ้นต่อจึงอยู่ที่ว่า สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดด้วยหรือไม่
วาระเรื่องผู้บริโภคประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ดี โดยถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างที่มีการร้องเรียนปัญหา
กรณีนี้ผู้บริโภคประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ดีในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2555 โดยประสบปัญหาสัญญาณไม่ชัด หลุดบ่อย ซึ่งในระหว่างที่เรื่องร้องเรียนนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงาน กสทช. ผู้บริโภคกลับถูกผู้ให้บริการระงับสัญญาณ ทำให้เกิดความเสียหาย โดยบริษัทอ้างเหตุว่าผู้บริโภคผิดนัดชำระหนี้
เรื่องนี้มีความไม่เป็นธรรมและไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ตั้งแต่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่กินเวลายาวนานมากกว่า 1 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ให้บริการก็ไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานที่ชัดเจนในการโต้แย้งผู้ร้องเรียนว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ร้องเรียนสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง เช่นไม่มีการแสดงข้อมูล Call Detail นอกจากนี้ ตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ ก็มีการกำหนดว่า หากเรื่องร้องเรียนได้เข้าสู่กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนตามประกาศแล้ว ผู้ให้บริการต้องเยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราว โดยไม่มีสิทธิระงับสัญญาณจนกว่าจะได้ข้อยุติในข้อร้องเรียนนั้น ดังนั้นในกรณีนี้ผู้ให้บริการจึงไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการจำนวนที่มีการโต้แย้งกัน รวมทั้งไม่สามารถระงับสัญญาณการให้บริการได้
ในเมื่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องตามดูว่า มติชี้ขาดข้อร้องเรียนเรื่องนี้ของที่ประชุม กทค. จะเป็นเช่นไร
วาระกรณีถูกเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศเนื่องจากถูก Hack ระบบ
กรณีนี้เป็นเรื่องที่ผู้ร้องเรียนประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศผิดพลาด โดยเหตุเกิดจากบริษัทแห่งหนึ่งในฐานะผู้ใช้บริการถูกเรียกเก็บค่าบริการทั้งที่ไม่ได้ใช้ โดยมีการแสดงหลักฐานข้อมูลจากกล้องวงจรปิดว่าไม่พบบุคคลใดใช้โทรศัพท์ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทปิดทำการ ขณะที่ทางด้านผู้ให้บริการก็ยืนยันว่า มีการส่งทราฟฟิคการเรียกเข้าจากโทรศัพท์ของผู้ร้องเรียนมายังชุมสาย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากที่มีการ Hack โทรศัพท์จากระบบอินเทอร์เน็ตมายังตู้ชุมสาย PABX ของผู้ร้องเรียน และเมื่อหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานและตู้ชุมสายดังกล่าวอยู่ในความดูแลของผู้ร้องเรียน ผู้ร้องเรียนจึงควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าบริการที่เกิดขึ้น
เรื่องร้องเรียนกรณีนี้เคยบรรจุเข้าที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณามาแล้ว แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยที่ประชุมมีมติให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบและหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดทางผู้ให้บริการได้ส่งข้อมูลแสดงต้นทางการโทรออก (Call Originate) ว่ามีการโทรออกจากหมายเลขของผู้ร้องเรียนมายืนยัน ซึ่งข้อเสนอจากสำนักงาน กสทช. ฟันธงตามทิศทางของบริษัทเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เคยแสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ในชั้นแรกต้องพิสูจน์เรื่องการใช้บริการก่อนว่ามีการใช้บริการจริงหรือไม่ ต่อเมื่อพบว่ามีการใช้บริการจริงแล้ว ก็มีประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นการใช้บริการโดยผู้ร้องเรียนหรือไม่ หรืออยู่ในส่วนที่ผู้ร้องเรียนควรต้องรับผิดชอบหรือไม่ เพียงใด เพราะลำพังเพียงการพิสูจน์ว่ามีการใช้บริการผ่านเลขหมายของผู้ร้องเรียนจริง อาจยังไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การชี้ว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้ร้องเรียน
“ถ้าหากว่ามีการ Hack โทรศัพท์เพื่อใช้งานจริง ยิ่งต้องมีความละเอียดรอบคอบในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการ Hack นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ณ จุดใด เนื่องจากประเด็นข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นเครื่องชี้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นควรต้องตกเป็นความรับผิดชอบของใคร เพราะโดยหลักการ หากการ Hack เกิดขึ้นในจุดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจหรือบทบาทหน้าที่ที่จะป้องกันได้ ผู้นั้นก็ควรต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบ แต่ถ้าเกิดขึ้นในจุดที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีอำนาจหรือบทบาทหน้าที่ที่จะป้องกันได้เลย ก็ควรพิจารณากำหนดเกณฑ์การรับผิดชอบร่วมกันบนฐานของความเสียหายจริง นั่นคือเฉพาะค่าบริการระหว่างประเทศในส่วนที่ต่างประเทศเรียกเก็บมา แต่ไม่ใช่ยอดเงินที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บ เนื่องจากยอดดังกล่าวเป็นต้นทุนที่บวกเพิ่มกำไรแล้ว” เป็นความเห็นที่ กสทช. ประวิทย์ เคยเปิดเผยไว้ประกอบการลงมติพิจารณาเรื่องนี้ในครั้งก่อน ซึ่งครั้งนี้คงต้องดูว่าข้อเท็จจริงต่างๆ จะบ่งบอกอะไรบ้าง และทิศทางการตัดสินใจของ กทค. จะออกมาอย่างไร