กรุงเทพ--17 ก.พ.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ จัดประชุมวิชาการความร่วมมือการแพทย์ไทย-จีนซึ่งเป็นการพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนปัจจุบันแบบผสมผสานเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยการนำการแพทย์แผนจีนที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2541 เวลา 09.00 น. นายแพทย์ชาตรี บานชื่นรองอธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแพทย์แผนจีน ครั้งที่1 ว่า การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จะดำเนินการต่อเนื่องทุก 2 เดือน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้เป็นวิทยากรเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน หลากหลายวิชาชีพทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยประยุกต์หรืออายุรเวท แพทย์แผนจีนตลอดจนนักเรียนในสายแพทย์โบราณอีกจำนวนมากศูนย์ความร่วมมือแพทย์ไทยจีนได้เปิดดำเนินการเมื่อปี 2538ภายหลังลงนามความร่วมมือการแพทย์สาธารณสุขและเภสัชกรรมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยและประเทศจีนส่งเสริมความร่วมมือใน 13 สาขา ได้มีโครงการความร่วมมือในปี 2541-2542 จำนวน 3 โครงการ คือ 1. การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา 2. การวิจัยสมุนไพรร่วมในการรักษาโรคมะเร็ง โรคเอดส์ โรคมาลาเรียและการติดยาเสพติด 3.การพัฒนาสถานบริการการแพทย์แผนจีนที่ได้มาตรฐาน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO)ให้การยอมรับว่าการแพทย์แผนจีนได้มีการประยุกต์ก้าวหน้าทัดเทียมการแพทย์แผนปัจจุบันการดำเนินความร่วมมมือโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นศูนย์ร่วมทำการวิจัยและให้บริการในประเทศไทยพร้อมทั้งเปิดหลักสูตรฝึกอบรมร่วมกับคณะกายภาพบำบัด คณะพยาบาลศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติต่อไป
นพ.ชวลิต สันติกิจรุ่งเรืองผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือการแพทย์ไทย-จีน กล่าวเสริมว่าส่วนของภาคเอกชนทางมูลนิธิป่อเต็กตึ้งให้การสนับสนุนโครงการด้วยดีมาโดยตลอดได้เปิดสถานพยาบาลหัวเฉียวโบราณแผนจีน ซึ่งเปิดบริการแผนกผู้สูงอายุ อายุรกรรม กระดูกและข้อการฝังเข็มอย่างปลอดภัย ความร่วมมือที่ประเทศจีนให้การสนับสนุนโดยโรงพยาบาลหลงหัวมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ได้สั่งผู้เชี่ยวชาญระดับศาสตราจารย์มาประจำที่โรงพยาบาลหัวเฉียวแผนโบราณ 3 ท่านตั้งแต่พฤศจิกายน 2540 เพื่อร่วมทำการวิจัยและดำเนินงานตลอดโครงการเพื่อเป็นการพัฒนาการแพทย์แผนจีนในประเทศไทยนอกจากนี้ได้มีการนำการแพทย์แผนจีนที่ประหยัดและเหมาะสมมีประสิทธิภาพมาผสมผสานเข้ากับระบบบริการสาธารณสุขในการให้บริการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด--จบ--