กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พร้อมขยายขีดความสามารถสหกรณ์การเกษตรให้ครอบคลุมกลุ่มสินค้ามากขึ้น
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดโครงการและบรรยายพิเศษหัวข้อ “สหกรณ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ณ ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมรามาการ์เด้น ว่า จากการตรวจสอบพบว่าการดำเนินงานของสหกรณ์จำนวนไม่น้อยเกิดปัญหาข้อบกพร่องทางการบริหารจัดการ การจัดทำระบบควบคุมภายในที่ไม่รัดกุม การดำเนินธุรกิจ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักและวิธีการสหกรณ์หรือผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ เช่น กรณีของแชร์ล๊อตเตอรี่ หรือสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด นำมาซึ่งความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบความเสียหาย ต่อสมาชิกสหกรณ์จำนวนมากแล้ว ยังส่งผลต่อความศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไปที่มีต่อระบบสหกรณ์ และระบบเศรษฐกิจของประเทศส่วนหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,161 สหกรณ์ สมาชิก 11.27 ล้านครอบครัว ปริมาณธุรกิจรวม 2.25 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ16.48 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)
ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อการติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์แต่ละแห่งที่ตรวจพบข้อบกพร่อง หรือเป็นสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างต้องเฝ้าระวัง กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกันวางมาตรการแก้ไขปัญหาสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4มาตรการหลัก ได้แก่ 1. มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขทั้งสหกรณ์ที่เกิดปัญหาแล้ว และสหกรณ์ที่กำลังจะเกิดปัญหา โดยเร่งให้ความรู้ในการยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารระบบสหกรณ์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง พร้อมทั้งให้นายทะเบียนสหกรณ์ใช้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินการแก้ไขปัญหา 2. มาตรการเฝ้าระวัง ดำเนินการกำกับและติดตามต่อเนื่องในสหกรณ์ที่มีการดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์หรือมีสัญญาณบอกเหตุว่าอาจจะเกิดข้อผิดพลาด โดยมีมาตรการตรวจสอบ และการบังคับใช้กฏหมายในการกำกับดูแลสหกรณ์แต่ละประเภท 3. มาตรการเยียวยา เนื่องจากหลายกรณีในกลุ่มสหกรณ์ที่มีปัญหา ขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการทางศาลแล้ว ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ วางมาตรการในการบรรเทาของเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์ล่วงหน้าโดยเร่งด่วน 4มาตรการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ เพื่อให้เกิดหลักประกันที่มั่นคงแก่การดำเนินงานของสหกรณ์ และให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์ เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของระบบสหกรณ์ ในกรณีที่สหกรณ์อาจเกิดวิกฤตทางการเงิน สหกรณ์สามารถใช้เงินกองทุนนี้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกผู้ฝากเงินไว้กับสหกรณ์
สำหรับการจัดระดับความเสี่ยงของสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการประเมินภาพรวมความเสี่ยงด้านการเงิน การบริหารจัดการของสหกรณ์ และจัดระดับความเสี่ยงของสหกรณ์แต่ละแห่งที่นำเงินไปลงทุนประเภทต่าง ๆ หรือลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะประกาศให้เป็นสหกรณ์ที่มีระดับความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ได้พิจารณาอย่างรอบคอบในการทำธุรกรรมกับสหกรณ์ ก่อนจะนำเงินมาฝากไว้กับสหกรณ์นั้น ๆ หรือการให้สหกรณ์เข้าระบบเครดิตบูโร เพื่อจะได้ทราบและเข้าถึงข้อมูลของสมาชิกสหกรณ์ว่ามีวินัยการชำระหนี้อย่างไร ทำให้การบริหารสินเชื่อของสหกรณ์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะทำการศึกษากฎเกณฑ์และกติกาในการกำกับดูสหกรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการเงินอีกประเภทหนึ่ง ในการดำเนินธุรกิจการเงินให้มีความคล่องตัวมากขึ้น แต่ยังอยู่ในหลักการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย รวมถึงขยายขีดความสามารถให้แก่สหกรณ์ที่บริหารจัดการสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมมากขึ้นจากปัจจุบันทำได้เพียง 20 % เพื่อให้สหกรณ์มีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงกับการผลิตและการตลาดได้เต็มศักยภาพมากขึ้น