มูลนิธิเอสซีจี...เพื่อก้าวย่างที่มั่นคงของชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 08:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--เอสซีจี “...ในการช่วยเหลือนั้น ควรจะยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขา เพื่อให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้ต่อไป....” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๐ ด้วยแนวทางการดำเนินงานของมูลนิธิเอสซีจีคือ การพัฒนาคน ตามพันธกิจหลักที่ว่า ‘เชื่อมั่นในคุณค่าของคน’ ส่งผลให้การพัฒนาทรัพยากร ‘คน’ เป็นเสมือนพันธสัญญาที่มูลนิธิเอสซีจีมีต่อสังคม มูลนิธิเอสซีจีจึงขอน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้มาเป็นเข็มทิศนำทางในการทำงาน ด้วยตระหนักดีว่าการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนไม่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่เริ่มจาก ‘คน’ ก่อน ชุมชนก็ไม่อาจเดินหน้า ประเทศก็ไม่อาจพัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืนได้ เหตุนี้เองการส่งเสริมศักยภาพของคน และการสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นความมุ่งหวังตั้งใจของมูลนิธิเอสซีจีในการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างสร้างสรรค์ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 เมื่อคลื่นสึนามิถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งอันดามันอย่างไม่ปราณี นับเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานระหว่างชุมชนกับมูลนิธิเอสซีจีอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยคลื่นยักษ์ในกรณีเร่งด่วน รวมถึงใช้วิกฤตนี้เปลี่ยนเป็นโอกาสในการวางรากฐานแนวคิดชุมชนเข้มแข็ง พร้อมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมหรือพัฒนาอาชีพให้กับผู้ประสบภัย โดยหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการหนุนเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อให้ได้พลิกฟื้นคืนอาชีพนั่นก็คือ การจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนนั่นเอง จากวันนั้น ถึงวันนี้นับเป็นเวลาร่วม 10 ปีแล้วที่มูลนิธิเอสซีจีได้ทำงานร่วมกับชุมชน โดยได้นำประสบการณ์การช่วยเหลือในครั้งนั้น เรียนรู้ต่อยอดการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในหลากหลายพื้นที่ และขยายผลกระบวนการของกองทุนหมุนเวียนไปยังชุมชนอีก 6 พื้นที่ เพียงแต่แตกต่างที่ลักษณะของกองทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม ของชุมชนนั้นๆ โดยอาศัยต้นทุนทางภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนแต่ละแห่งมีอยู่เดิม ได้แก่ 1. พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. พื้นที่บ้านปลาบู่ จังหวัดมหาสารคาม 3. พื้นที่เครือข่ายอินแปง จังหวัดสกลนคร 4. พื้นที่บ้านช่องฟืน จังหวัดพัทลุง 5. พื้นที่บ้านคูขุด จังหวัดสงขลา 6. พื้นที่ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จังหวัดน่าน อย่างไรก็ตามรูปแบบการช่วยเหลือของมูลนิธิฯ จะเป็นการช่วยแบบมีเงื่อนไข นั่นหมายถึง เงินที่กู้ยืมไปจะต้องใช้คืนกลับมายังกองทุนฯ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและการจัดระบบการกู้ยืมของชุมชนนั้นๆ นอกจากนี้การที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในกองทุนร่วมกันย่อมนำมาซึ่งการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน “ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจี ได้นำเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน อันหมายถึงกองทุนหมุนเวียน มาประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดย 6 กองทุนนี้ เป็นเสมือนความภาคภูมิใจของมูลนิธิเอสซีจีที่ได้ร่วมเดินไปพร้อมๆ กับชุมชน แม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรค แต่คนในชุมชนก็เป็นผู้จัดลำดับความสำคัญและแก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไป โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ และองค์ความรู้ทางการบริหารจัดการของมูลนิธิเอสซีจี ร่วมเดินไปด้วยกัน กองทุนนี้ยังมุ่งสร้างผู้นำชุมชนคนรุ่นใหม่ให้ประกอบอาชีพในท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด พึ่งพาตนเองได้ ปัจจุบัน กองทุนฯ ใน 6 พื้นที่ยังดำเนินไปได้ด้วยดี มีเงินหมุนเวียนกลับมายังชุมชน สร้างรายได้หมุนเวียนเรื่อยไป” ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจีกล่าว อย่างไรก็ตามมูลนิธิเอสซีจีได้แบ่งกองทุนหมุนเวียนออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ กองทุนเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (Investment Fund) และ กองทุนสวัสดิการ (Welfare Fund) สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน (Investment Fund) คือ กองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ริเริ่มและต่อยอดการประกอบอาชีพโดยใช้ฐานทรัพยากรของชุมชนเป็นหลัก กองทุนประเภทนี้จะให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพและเน้นให้มีการนำเงินมาหมุนเวียนในระบบ โดยมีดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้นำมาปันผลตอบแทนสมาชิกเป็นรายคน แต่นำมาต่อยอดให้แก่สมาชิกในกลุ่ม มีดอกเบี้ยนำมาเป็นเงินหมุนเวียนให้สมาชิกรายอื่น กองทุนสัมมาชีพที่อยู่ในประเภทนี้ ได้แก่ 1.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอาชีพ บ้านปลาบู่ จ.มหาสารคาม 2.กองทุนคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรเครือข่ายอินแปง จ.สกลนคร 3.กองทุนหมุนเวียนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุม จ.น่าน “เงินจากกองทุนหมุนเวียนของมูลนิธิเอสซีจี ถูกจัดสรรเป็นหลายส่วน เช่นเอามาทำกองทุนปุ๋ยอินทรีย์ กองทุนนาอินทรีย์ กองทุนผ้ามัดย้อม เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ปลอดสารเคมี ยกตัวอย่างเช่น ชาวบ้านรวมกลุ่มกันทำผ้ามัดย้อม เพราะเป็นภูมิปัญญาท้องถินที่มี เราถนัดเรื่องย้อมผ้า เรามีไม้ที่เปลือกของมันนำมาทำสีย้อมผ้าได้ คือไม้ประดู่ ไม้อะลาง ทีนี้พอใส่น้ำปูนใสลงไปจะได้สีอิฐ ถ้าใส่สนิมจะได้สีเทา และถ้าใส่เปลือกมะม่วง เปลือกเพกา จะได้สีเขียว นี่เป็นภูมิปัญญานับแต่สมัยพุทธกาล เรามีความถนัดเรื่องนี้ ก็เปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นและความถนัดมาทำผ้ามัดย้อมขาย เพิ่มเติมรายได้จากอาชีพหลักคือการทำนา แม่บ้านในชุมชนก็มีอาชีพ มีสังคม มีปัญหาก็เอามาคุยกัน ผ้ามัดย้อมนี้ใครถนัดมัดก็มัด ใครถนัดย้อมก็ย้อม ใครถนัดทั้งสองอย่าง ก็จะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น เพราะค่าแรงที่นี่คิดตามจำนวนชิ้นที่แต่ละคนทำได้ในแต่ละวัน ส่วนการแปรรูปเราก็ยังส่งผ้ามัดย้อมไปแปรรูปที่ชุมชนเครือข่ายของเราได้อีกที่บ้านสองห้อง จังหวัดมหาสารคาม พอเราเริ่มมาด้วยกัน เวลามีปัญหาอะไรก็จะไม่ยากเกินแก้ ปัจจุบันสินค้าผ้ามัดย้อมของเราได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่วมพัฒนาเป็นสินค้าโอทอป นอกจากนี้ ที่บ้านปลาบู่ของเรา ยังมีหลักสูตรการทำผ้ามัดย้อมเพื่อสอนเด็กๆ ในชุมชนให้มาเรียนเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนแต่ใช้ได้ในชีวิตจริง เป็นภูมิปัญญาของพ่อแม่พี่น้อง ที่เขาควรจะรู้เรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นของพวกเขา” พี่ณรงค์ กุลจันทร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจเพื่อสังคมสมาคมไทบ้าน กล่าว อีกชุมชนหนึ่งที่สมาชิกในกลุ่มมีความเข้มแข็งไม่แพ้กัน นั่นคือ กลุ่มกองทุนเกษตรรุ่นใหม่ผู้เลี้ยงหมูหลุม โดยกองทุนนี้อยู่ภายใต้กองทุนสัมมาชีพน่านหรือที่รู้จักกันในชื่อกองทุนสัมมาชีพโจ้โก้ ด้วยงบประมาณจัดตั้งกองทุนเพียง 500,000 บาทจากมูลนิธิเอสซีจีเมื่อปี 2555 วันนี้กลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ผู้เลี้ยงหมูหลุม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน โดยเฉพาะกระบวนการ “หมูของขวัญ” พี่บัวตอง ธรรมมะ ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน และ ผู้จัดการกองทุนสัมมาชีพน่าน เล่าให้ฟังว่า “หมูของขวัญ” คือ การที่สมาชิกในกลุ่มตกลงกันว่าแทนที่จะเป็นการกู้ยืมและคืนในแบบที่ผ่านมา อาจจะไม่เกิดการสร้างอาชีพหรือการสร้างองค์ความรู้เท่าไรนัก จึงตกลงกันว่าสมาชิกในกลุ่มที่เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู จะสามารถกู้ยืมเงินกองทุนได้ แต่เวลาคืน แทนที่จะคืนเป็นเงิน ก็จะคืนเป็นแม่หมูพันธุ์ดี ซึ่งจะต้องคืนทั้งหมด 3 ตัว โดย 2 ตัว ต้องคืนเข้ากลุ่มเพื่อให้กลุ่มมีแม่หมูพันธุ์ดีเพื่อส่งต่อ และอีก 1 ตัว จะส่งให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ญาติกัน เพื่อสร้างการขยายผลต่อยอดแม่หมูพันธุ์ดีเรื่อยไป แต่หากหมูที่เลี้ยงมีลักษณะไม่ตรงกับการเป็นแม่พันธุ์ที่ดี สมาชิกก็สามารถคืนเป็นหมูขุนได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องคืนตามน้ำหนักที่เคยได้ไป เช่น ตอนได้รับหมูครั้งแรก หมูมีน้ำหนัก 95 กิโลกรัม ดังนั้นตอนที่นำมาคืนก็ต้องเลี้ยงให้ได้น้ำหนัก 95 กิโลกรัมเช่นกัน การที่ชุมชนเลือกวิธีนี้เพราะมองว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้จริง และคนในชุมชนได้พูดกันมากขึ้น ฟังกันมากขึ้น เพราะการได้แม่หมูพันธุ์ดีไปเลี้ยง จะต้องรู้วิธีการดูแล ซึ่งจำเป็นที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาจากกันและกัน นอกจากนี้ที่ชุมชนของเรา เวลาบ้านใครจะทำคอกหมู ก็จะมาช่วยกันทั้งกลุ่ม มาลงแรงสร้างคอกกัน หรือหมูใครป่วยก็จะมาช่วยกันดูแลวิเคราะห์อาการ สิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง พึ่งพากันได้ จึงอยากขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เปิดโอกาสให้เราได้ประกอบอาชีพในแบบที่เราถนัด ในแบบที่เรามีองค์ความรู้ของเรา ถือเป็นความช่วยเหลือที่ตรงจุด และตอบโจทย์ชุมชน เรารู้สึกว่าเป็นแนวทางการช่วยเหลือที่ถูกต้องแล้ว มันถูกจริตกับชุมชนเรา” ส่วนกองทุนสวัสดิการ (Welfare Fund) คือ กองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนสวัสดิการให้แก่กลุ่มในเหตุการณ์เฉพาะ หรือกรณีเร่งด่วน เกิดจากการรวมตัวของคนในชุมชนด้วยความสมัครใจที่ประสงค์จะดูแลซึ่งกันและกันตั้งแต่เกิดจนตาย กองทุนประเภทนี้จะเน้นให้มีเงินมาหมุนเวียนในระบบและเป็นเงินออมในกลุ่มเพื่อให้สมาชิกรายอื่นมีการนำเงินไปใช้ประกอบอาชีพ ก่อให้เกิดรายได้ ลดรายจ่าย นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจน เป็นกองทุนที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ได้แก่ 1.กองทุนหมุนเวียนซ่อมสร้างเรือและกองทุนเครื่องมือประมง ทะเลสาบสงขลา บ้านคูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา 2. กองทุนหมุนเวียนซ่อมสร้างเรือและกองทุนเครื่องมือประมง ทะเลสาบสงขลา บ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง 3. กองทุนเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวอย่างกองทุนสวัสดิการเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีที่มาจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.เทพา อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย และอ. นาทวี สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ท่ามกลางความตึงเครียดและความเป็นอยู่อย่างหวาดระแวงของคนในพื้นที่ กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นชาวบ้านเป็นผู้นำชุมชน ยังคงเลือกที่จะไม่ละทิ้งบ้านเกิดและเลือกทำงานจิตอาสาไม่มีแม้เงินเดือนหรือสวัสดิการใดๆ เพื่อดูแลประคับประคองชุมชนบ้านเกิดของตัวเองให้มีบรรยากาศที่ดีเท่าที่จะทำได้ มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงความสำคัญของคนกลุ่มเล็กๆ ที่นอกจากจะต้องอยู่ใกล้ชิดพื้นที่เสี่ยงแล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการสังคมต่างๆ คนกลุ่มนี้สมควรได้รับการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มเติมกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พี่สุภารัตน์ มูซอ นอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว ยังเป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลมะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และเป็นประธานชมรมจิตอาสาของโรงพยาบาลโคกโพธิ์ เธอทำงานจิตอาสามา 5 ปีต่อกันแล้ว โดยหน้าที่หลักของพี่จะอยู่ที่ห้องเวชกรรม คอยดูแลผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ คอยช่วยเหลือหากคนที่มาพูดภาษาไทยไม่ได้ เมื่อ 2 ปีที่แล้วเธอนำเงินจากกองทุนเพื่อเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปซื้อวัว 2 ตัว และปลูกผักสวนครัว ปลูกหญ้าเพื่อเลี้ยงวัว ปัจจุบันนี้เงินตั้งต้น 30,000 บาทที่กู้ยืมไปซื้อวัว ซื้อหญ้าในวันนั้น ทำให้วันนี้พี่สุภารัตน์เป็นเจ้าของวัวจำนวน 15 ตัวแล้ว “ทุกวันนี้ความเป็นอยู่ดีขึ้น รู้สึกภูมิใจมากที่ได้ทำงานช่วยสังคม และอยากขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่มองเห็นสิ่งที่พี่ทำและให้กำลังใจ ให้อาชีพ ทำให้หมดกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย สร้างกำลังใจในการทำงานเพื่อสังคม พี่ก็ตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อยจนกว่าจะทำไม่ได้ พี่เชื่อว่าถ้าเราไม่ช่วยสังคมก่อน ก็อย่าหวังให้สังคมช่วยเรา” กว่า 10 ปี ที่เดินร่วมทางมากับชุมชน ถึงเวลาแล้วที่คนของชุมชนนั้นๆ จะเป็นผู้บอกเล่าถึงเส้นทางเดินของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นการก้าวเดินบนทางขรุขระ หรือทางเรียบ แต่เส้นทางที่เดินมานั้น ล้วนมีเรื่องราวและประสบการณ์ที่น่าสนใจ มูลนิธิเอสซีจีจึงได้จัดกิจกรรม Show & Share บทเรียนกองทุนสัมมาชีพ ก้าวย่างที่มั่นคงของชุมชน ขึ้น เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้บทเรียนการดำเนินงานของกองทุนทั้ง 6 กองทุน และเผยแพร่ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามชุมชนมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ที่จะแก้ปัญหานั้นได้ดีที่สุดก็คือคนในชุมชนนั่นเอง เพราะความตั้งใจจริง และรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง ย่อมเป็นนิมิตรหมายอันดีในการแสวงหาทางออกร่วมกัน มูลนิธิเอสซีจีจึงมุ่งเน้นไปที่การช่วย ‘คน’ มากกว่าการช่วยในลักษณะของวัตถุหรือการบริจาคสิ่งของซึ่งไม่นานก็อาจหมดไป เป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกระบวนการแห่งวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ