กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์-
กรอ. เผยตัวเลขสิ้นปี 2557 มูลค่าการลงทุน 6 แสนล้านบาท
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รุกสร้างสภาพคล่องอุตสาหกรรมไทย เปิดกลยุทธ์ “แปลงเครื่องจักรเป็นทุน มีทุน เพิ่มการจ้างงาน ผู้ประกอบการมีแหล่งทุน” เพื่อเพิ่มช่องทางเลือกให้ผู้ประกอบการสามารถแปลงเครื่องจักรเป็นแหล่งเงินทุน เผยตัวเลขเครื่องจักรในโรงงานประเทศไทยมีเครื่องจักรประมาณ 10 ล้านเครื่อง มีเพียงประมาณ 7.9 แสนเครื่องที่ผ่านการจดทะเบียน หากเครื่องจักรที่มีอยู่ในโรงงานทั่วประเทศมาจดทะเบียน จะมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านล้านบาท สำหรับสถิติที่นำเสนอและอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชน และเป็นการดำเนินการเร่งรัด และอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการคือ การออกใบอนุญาต รง. 4 โดยสถิติ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 มีการประกอบและขยายกิจการจำนวน 5,625 โรงงาน คนงานจำนวน 204,492คนมูลค่าการลงทุน 602,346.78 ล้านบาท โดยเติบโตสูงกว่าปี 2556 ถึง 17% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการแจ้งประกอบกิจการและขยายกิจการใหม่ สูงสุด คือผลิตภัณฑ์จากพืช สำหรับสถิติเรื่อง การบริหารจัดการและการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบมากขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ ควบคู่กับโครงการส่งเสริมสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีใช้ประโยชน์จากของเสีย และโครงการยกระดับสถานประกอบการ ทั้งนี้ ในปี 2558 กรอ.ปฏิบัติงาน ภายใต้แนวคิด “ DIW Work for best โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สู่อุตสาหกรรมสีเขียว คืนความสุขประชาชน” ผ่านโครงการสำคัญๆ ในการส่งเสริม สนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม
สำหรับผู้ประกอบการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับโครงการต่างๆของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนแจ้งข้อมูลร้องเรียน ได้ที่สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564 หรือ สำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง Call Center 0 2202 4068โทรสาร 0 2354 3126 หรือเว็บไซต์ www.diw.go.th
ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรเป็นงานในภารกิจประการหนึ่งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และนำไปจดทำนอง เพื่อเป็นหลักทรัพย์ ค้ำประกัน จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเครื่องจักรที่ใช้ในกิจการอุตสาหกรรมที่นำมาจดทะเบียนได้มีถึง 107 ประเภท อาทิ เครื่องจักรทำความเย็น ปรับอากาศ เครื่องจักรหล่อหลอม หรือแปรรูปโลหะ อุตสาหกรรมขัด สี โม่ ป่นเมล็ดพืช อุตสาหกรรมน้ำแข็ง อุตสาหกรรมการเกษตร กิจการโรงแรม สวนสนุก สถานพยาบาล ศูนย์เอกซเรย์ เป็นต้น ซึ่งโดยจากกสถิติ(ตั้งแต่ปี 2515 มกราคม 2558) มีโรงงาน จดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร 56,106 ราย จำนวน 792,228เครื่อง และจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร 36,839 ราย จำนวน869,711เครื่อง โดยมูลค่าวงเงินจำนองกว่า 4.4 ล้านล้านบาท (4,425,869,812,138 บาท) โดยเครื่องจักรที่นำมาจดทะเบียนคิดเป็นเพียง 8% ของเครื่องจักรที่มีอยู่ในโรงงานในประเทศไทย
ทั้งนี้ปี 2557 มีเครื่องจักรที่มาจดทะเบียนและจดจำนอง วงเงินสูงถึง 338,127.87 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีการจดจำนองมากที่สุดในเดือน มกราคม 2558 เรียง 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์จากพืช 2.อุตสาหกรรมอาหาร 3 .พลาสติก
จากสถิติดังกล่าว กรมโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีแนวคิดที่จะเชิญชวนให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรที่มีอยู่ในโรงงานมาจดทะเบียนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง เพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มมาก โดยในปีนี้ กรมฯจัด จัดคาราวานเข้าไปถึงชุมชนเพื่อให้ความรู้ด้านการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรและการจดทะเบียนจำนองเครื่องจักร คาดว่าเป้าหมายการจดจำนองภายในสิ้นปี 2558 นี้จะโตขึ้นจากปี 2557 กว่า 15 % ประมาณ 8,000 เครื่อง วงเงินจำนองประมาณ 375,000 ล้านบาท อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป
ดร. พสุฯ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ที่มีการประกาศลดขั้นตอนระยะเวลาการให้พิจารณาอนุญาตโรงงานจากเดิมเหลือเพียง 30วันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา ส่งผลให้สถิติตัวเลขด้านการอนุญาตเพิ่มสูงขึ้น
จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ ของสำนักนายกรัฐมนตรี พบว่า ส่วนผู้ประกอบการมีความพึงพอใจในการอำนวยความสะดวกในการเรื่องพิจารณาอนุญาตเป็น อย่างมาก สำหรับสถิติการประกอบและขยายโรงงาน ดังนี้
ปี 2556 (ม.ค.- ธ.ค.) จำนวน 5,472 โรงงาน คนงานจำนวน 178,105 คนมูลค่าการลงทุน 517,584.02 ล้านบาท
ปี 2557 (ม.ค.- ธ.ค.) จำนวน 5,625 โรงงาน คนงานจำนวน 204,492 คนมูลค่าการลงทุน 602,346.78 ล้านบาท
ปี 2558(สิ้นเดือน ม.ค.) จำนวน 393 โรงงาน คนงานจำนวน 9,832 คนมูลค่าการลงทุน 30,351.60 ล้านบาท
พบว่าสถิติการประกอบและขยายโรงงานปี 2557มีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าปี 2556 ถึง 17%
สำหรับในปี 2558 กรอ. มีนโยบายและการดำเนินการภายใต้แนวคิด “DIW Work for best โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สู่อุตสาหกรรมสีเขียว คืนความสุขประชาชน” ภายใต้ภารกิจปกติ ที่มุ่งเน้นการกำกับโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม พัฒนาสู่อุตสาหกรรมสีเขียว การบริหารจัดการด้านความปลอดภัย การแก้ไขปัญหามลพิษ การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการให้บริการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
โดยมีการดำเนินการภายใต้นโยบายสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมและการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ
โครงการฝึกอบรมการใช้ประโยชน์กากของเสียตามหลัก 3Rs ที่มีประสิทธิภาพโดยดำเนินการตั้งแต่ต้นทางได้แก่ ลดการเกิดของเสีย (Reduction) นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) หมุนเวียนใช้ประโยชน์ตามศักยภาพ/นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)การบำบัดของเสียที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีก (Treatment)และ กำจัดอย่างปลอดภัย (Disposal) เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนใช้ประโยชน์ของเสียและลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัด รวมทั้งการมอบโล่และเกียรติบัตรแก่โรงงานที่ผ่านการตรวจประเมิน โดยโครงการได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 – 2557 ซึ่งมี โรงงานสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งหมด 162 โรงงาน ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน จำนวน 19 โรงงาน เช่น ในปีที่ผ่านมา (2557) มีโรงงานเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 35 โรงงาน ผ่านการตรวจตามเกณฑ์ประเมิน 3Rsจำนวน 26 ราย และได้รับรางวัล Zero Waste to Landfill จำนวน 8 ราย รวมถึงกิจกรรมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนที่ดีทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งในปี 2558 ตั้งเป้าหมายโรงงานเข้าร่วมโครงการ 50 ราย แต่มีโรงงานเข้าร่วมโครงการจำนวน 51 ราย
โครงการยกระดับผู้ประกอบการจัดการของเสีย เพื่อยกระดับการให้บริการและการประกอบกิจการจัดการของเสียให้เป็นมาตรฐาน เกิดการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการยกระดับผู้ประกอบการ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 – 2557 มีโรงงานสนใจเข้าร่วมทั้งหมด 239 ราย ผ่านเกณฑ์การตรวจและได้รับรางวัล 159 ราย ในปี 2558 ตั้งเป้าหมายไว้ 50 ราย แต่มีโรงงานเข้าร่วมโครงการ จำนวน 54 ราย
นอกจากนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ คู่มือ การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน โดยคู่มือดังกล่าว ได้จัดส่งให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ และสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถ Download ข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งได้ประสานให้สามารถ Download ได้ที่เว็บไซต์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายจาก ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้จัดการฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรม ทั่วประเทศเป็นการเร่งด่วน เพิ่มเติมจากแผนปฏิบัติการตามปกติ ดร.พสุฯ กล่าวทิ้งท้าย