กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ยกเครื่องระบบ เพิ่มการกระจายรายได้ เชื่อมโยงบริการตลาดเงิน-ตลาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 9, 2015 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ธนาคารเกียรตินาคิน “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” เผยแผนธุรกิจปี 2558 เน้นการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ ช่องทางการขายและสาขา พันธมิตรทางธุรกิจ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนที่มีความหลากหลาย ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดีด้านการลงทุนสำหรับลูกค้าบุคคลรายใหญ่ ในปี 2558 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโตที่ 6% โดยได้รับแรงหนุนจากสินเชื่อบรรษัทและสินเชื่อธุรกิจเป็นหลัก นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Aphinant Klewpatinond, President and Chairman of Commercial Banking Business) เปิดเผยว่า แนวทางการดำเนินงานในปีนี้ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) จะเน้นกลยุทธ์ 3 ด้านใหญ่ เริ่มต้นจากการพัฒนาช่องทางในการให้บริการ โดยเฉพาะสาขา (ปัจจุบันธนาคารมีสาขารวมสำนักงานใหญ่ 86 แห่ง) จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจการให้คำปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) อย่างครบวงจร ตลอดจนเพิ่มช่องทางการบริการผ่านพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อให้ช่องทางการขายสมบูรณ์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการร่วมกับ บริษัท บี-ควิก และบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ในเครือซีพี ออลล์ ในการเปิดช่องทางการให้บริการสินเชื่อรถ กู้เงินด่วน CarQuickCash นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เพิ่มช่องทางการให้บริการเงินฝากด้วยการรับฝากเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคารอีกด้วย ถัดมาคือการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ผ่านมา (ธันวาคม 2557) ธนาคารได้ลงนามในสัญญาการทำธุรกิจ แบงก์แอสชัวรันส์กับบริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารจะเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์แต่เพียงรายเดียวเป็นระยะเวลา 15 ปีผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2558 ที่ผ่านมา และล่าสุด ธนาคารได้รับการคัดเลือกให้เป็น Captive Partner กับซูซูกิ โดยเริ่มดำเนินการแล้วในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนประการสุดท้ายที่สำคัญคือการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลาย อาทิ บัตร KK ATM ที่เพิ่มความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ และชดเชยรายได้ (ขึ้นอยู่กับประเภทของบัตร)นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ความร่วมมือของกลุ่มธุรกิจฯ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Lombard Loan เป็นการให้เงินกู้สำหรับลูกค้าบุคคลรายใหญ่ของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งใช้เงินลงทุนของลูกค้าเป็นหลักประกัน โดย Lombard Loan นี้ เป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานของ Private Banking ทั่วโลกที่ให้บริการอยู่ แต่ยังค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในกลางปีนี้ “ที่ผ่านมา KKP ได้พัฒนาบริการเพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารและตลาดทุน เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้าในกลุ่มการเงิน โดยอาศัยจุดแข็งของ บล.ภัทร ในการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้กับลูกค้า ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือลูกค้าเงินฝากรายใหญ่เริ่มมีการลงทุนผ่านบริษัทในเครือมากขึ้น โดยปี 2557 ที่ผ่านมามียอดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้ ทาง บล.ภัทร ประเมินว่าจีดีพีจะขยายตัวราว 3.7% ซึ่งธนาคารจะหันมาให้ความสำคัญบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่และบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมที่ 6% ซึ่งมาจากการขับเคลื่อนของสินเชื่อบรรษัทและสินเชื่อธุรกิจเป็นหลัก ทำให้เกิดการกระจายรายได้ของ KKP ที่ดีขึ้นเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว” นายกฤติยา วีรบุรุษ ประธานธุรกิจตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr. Krittiya Veeraburus, Chairman of Capital Market Business, President of Phatra Capital Public Company Limited and Phatra Securities Public Company Limited) เปิดเผยว่า “ในปีนี้ ภัทรมองว่าตลาดหลักทรัพย์จะยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่อง และดัชนีจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยแนะนำให้ลงทุนด้วยความระมัดระวัง สำหรับแผนการดำเนินงานของธุรกิจตลาดทุนในปี 2558 นี้ นอกจากการผลักดันการเติบโตของธุรกิจในทุกๆ ด้านตามที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปีแล้ว ในปีนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก กล่าวคือ การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการลูกค้าบุคคล ทั้งด้านคุณภาพการให้คำแนะนำ และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า การปรับปรุงรูปแบบการให้บริการเพื่อสนับสนุนการขยายฐานลูกค้าบุคคลขนาดกลาง โดยมีแผนที่จะนำ online platform ใหม่มาใช้ประมาณไตรมาสสองของปี ด้านที่สองที่ภัทรให้ความสำคัญคือ การขยายตัวของส่วนธุรกิจการลงทุน มีการพัฒนากลยุทธ์การลงทุนใหม่ๆ รวมถึงแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ ท้ายสุดนี้ ภัทรจะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพการให้บริการลูกค้าบรรษัทให้ครอบคลุมมากขึ้น มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้าเพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุน สำหรับ บล. เคเคเทรด จะยังคงพัฒนาธุรกิจออนไลน์ของบริษัทให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เน้นการดูแลลูกค้าเป็นสำคัญ การให้คำแนะนำที่เหมาะสม และการพัฒนาระบบการซื้อขายให้มีความฉับไว สะดวกสบายและใช้งานได้ง่าย” สำหรับผลการดำเนินงานปี 2557 เทียบกับปี 2556 นั้น นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Chavalit Chindavanig, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Bank Plc.)เปิดเผยว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีกำไรสุทธิรวม 2,636 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 40.3% ในส่วนของรายได้รวมอยู่ที่ 14,537 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 8,926 ล้านบาทหรือคิดเป็น 61% ของรายได้รวม ที่เหลือคือรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 5,611 ล้านบาท (39%) ซึ่งมาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจตลาดทุน สำหรับธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีเงินให้สินเชื่อรวมจำนวน 184,777 ล้านบาท ลดลง 3.2% ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า และการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน สำหรับหนี้สินรวม (เงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วบีอี และหนี้สินอื่นๆ) มีจำนวน 204,212 ล้านบาท ลดลง 4.6% ในส่วนของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ (Loan Spread) อยู่ที่ 3.9% ทั้งนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญในการควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ โดยมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 5.6% สำหรับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ตามเกณฑ์ ธปท. อยู่ที่ 15.16% (เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 14.77%) ส่วนธุรกิจตลาดทุน (บล.ภัทร บล.เคเคเทรด และ บลจ. ภัทร) ประกอบไปด้วย ธุรกิจนายหน้า ธุรกิจวานิชธนกิจ ธุรกิจการลงทุน และธุรกิจจัดการกองทุน โดย บล.ภัทรและบล.เคเคเทรดมีส่วนแบ่งตลาดรวมเท่ากับ 5.03% (เป็นอันดับ 5 จากทั้งหมด 34 แห่ง) ในส่วนของธุรกิจ Private Wealth Management มีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำรวมมูลค่า 284,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากยอด 210,000 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2556 โดยมีเงินใหม่สุทธิทั้งสิ้น 47,900 ล้านบาท และในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุน ภายใต้ บลจ.ภัทร มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ 32,330 ล้านบาท ?

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ