กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “องค์กรสิทธิมนุษยชน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 6 กุมภาพันธ์ 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชน อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 22.06 ระบุว่า พึงพอใจอย่างมาก ร้อยละ 46.92 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 15.91 ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ ร้อยละ 7.84 ระบุว่า ไม่พึงพอใจเลย และร้อยละ 7.27 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ – พึงพอใจอย่างมาก ให้เหตุผลว่า เป็นหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ และดูแลประชาชนเป็นอย่างดี และมีผลการดำเนินงานปรากฎให้เห็นเป็นประจำ โดยเฉพาะ การช่วยเหลือเด็กและสตรี ขณะผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ – ไม่พึงพอใจเลย ให้เหตุผลว่า การบริการยังไม่ทั่วถึง มีการทำงานไม่เป็นกลาง แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ประกอบกับมีปัญหาและอุปสรรคอย่างมาก จึงทำให้ยังไม่ค่อยมีผลงานที่เป็นรูปธรรม
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้ควบรวม ระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็น "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน" พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.00 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะช่วยให้การติดต่อดำเนินการ สามารถทำได้สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเป็นการลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ยังช่วยถ่วงดุลการทำงานของแต่ละฝ่าย ทำให้มีการประสานงานและเชื่อมโยงข้อมูลกัน ร้อยละ 34.93 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ทั้งสองหน่วยงานมีหน้าที่ในการรับผิดชอบที่แตกต่างกันออกไป และไม่แน่ใจว่าเมื่อถูกควบรวมกันแล้ว จะสามารถทำงานร่วมกันได้ดีหรือไม่ และร้อยละ 10.07 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการรายงานเสรีภาพในประเทศไทย ขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ ที่กล่าวว่า “เสรีภาพในไทยตกต่ำอย่างไม่สิ้นสุด ตั้งแต่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2557” พบว่า ประชาชน ร้อยละ 28.46 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างมาก ร้อยละ 14.23 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.35 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 36.53 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 5.43 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย – เห็นด้วยอย่างมาก ให้เหตุผลเพราะว่า การประกาศใช้ กฎอัยการศึกเป็นการเผด็จการมากเกินไป ถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางอย่าง เช่น การแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบางอย่าง ซึ่งจะทำอะไรต้องระมัดระวัง ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย – ไม่เห็นด้วยเลย ให้เหตุผลเพราะว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่รู้สึกถึงการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ บ้านเมืองเป็นปกติสุด ซึ่งบางครั้งคนไทยเคยชินกับการใช้สิทธิและเสรีภาพจนเกินขอบเขต รู้จักสิทธิแต่ไม่รู้จักการทำหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดี
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อความเข้าใจในบริบททางการเมืองไทย ขององค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 12.07 เชื่อว่า มีความเข้าใจเป็นอย่างดี ร้อยละ 28.70 เชื่อว่า ค่อนข้างมีความเข้าใจ ร้อยละ 29.74 เชื่อว่า ไม่ค่อยมีความเข้าใจ ร้อยละ เชื่อว่า 18.46 ไม่มีความเข้าใจเลย และร้อยละ 11.03 ไม่แน่ใจ / ไม่ระบุ โดยในจำนวนผู้ที่เชื่อว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ค่อนข้างมีความเข้าใจ – มีความเข้าใจเป็นอย่างดีในบริบททางการเมืองไทย ให้เหตุผลเพราะว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศน่าจะมีการศึกษาและทำความเข้าใจในประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมในแต่ละประเทศอยู่แล้ว และในสังคมแต่ละประเทศ ก็ย่อมมีความคิดของที่แตกต่างกันออกไปซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยการเมืองไทยมีรูปแบบการปกครอง และเหตุการณ์ทางการเมืองที่เป็นเฉพาะตัว
ส่วนผู้ที่เชื่อว่าไม่ค่อยมีความเข้าใจ – ไม่มีความเข้าใจเลย ให้เหตุผลเพราะว่า ในสังคมแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันออกไป น่าจะทำความเข้าใจได้ยาก และอาจได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อน อีกทั้งการเมืองของไทยเป็นเรื่องของภายในประเทศที่ต่างชาติอาจจะยังไม่เข้าใจได้ดี
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.38 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 19.58 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.98 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 20.06 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 54.04 เป็นเพศชาย ร้อยละ 45.88 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก
ตัวอย่างร้อยละ 4.43 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 31.08 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 51.29 มีอายุ 40 – 59 ปี และร้อยละ 13.20 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 93.23 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 5.88 นับถือศาสนาอิสลาม และตัวอย่างร้อยละ 0.89 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 24.01 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 73.33 สมรสแล้ว และตัวอย่างร้อยละ 2.66 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 20.76 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 28.84 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 10.82 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 31.99 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และตัวอย่างร้อยละ 7.59 จบการศึกษา สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 15.98 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 15.82 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่างร้อยละ 25.99 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 15.09 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 12.19 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 12.35 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ตัวอย่างร้อยละ 2.58 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 10.71 ไม่มีรายได้ ตัวอย่างร้อยละ 19.90 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 32.69 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 13.03 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.63 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 10.87 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 6.16 ไม่ระบุรายได้