กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง ความวิตกกังวลของแกนนำชุมชนต่อความขัดแย้งทางการเมืองหลังเหตุการณ์ระเบิดย่านพารากอน : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 606 ชุมชน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2558
ผลการสำรวจการรับทราบข่าวสารเกี่ยวกับภัยอาชญากรรมผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมาพบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 41.4 ระบุรับทราบข่าวสารดังกล่าวทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยยละ 39.5 ระบุรับทราบ 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 17.0 ระบุรับทราบ 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 2.1 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง
ทั้งนี้แกนนำชุมชน ร้อยละ 83.5 ระบุข่าวสารเกี่ยวกับภัยอาชญากรรมที่มักได้ยินหรือพบเห็นผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำได้แก่ ข่าวข่มขืน รองลงมาคือข่าวเกี่ยวกับยาเสพติด (ร้อยละ 83.2) ข่าวการฆาตกรรม (ร้อยละ 82.5) ข่าวการทะเลาะวิวาท (ร้อยละ 75.7) ข่าวการละเมิดทางเพศ (ร้อยละ 60.4) นอกจากนี้ยังพบเห็นหรือได้ยินข่าวเกี่ยวกับการวางระเบิด (ร้อยละ 55.0) ข่าวเกี่ยวกับการจี้ปล้น (ร้อยละ 52.5) ข่าวการโจรกรรมทรัพย์ (ร้อยละ 44.4) และข่าวฉ้อโกง (ร้อยละ 39.1) ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงความรู้สึกหวาดกลัวต่ออันตรายจากโจรผู้ร้าย ถ้าต้องเดินตามลำพังในหมู่บ้าน/ชุมชนในเวลากลางคืนนั้น พบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.4 ระบุรู้สึกหวาดกลัว ในขณะที่ร้อยละ 69.6 ระบุไม่รู้สึกหวาดกลัว
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อเหตุการณ์วางระเบิดที่เกิดขึ้นย่านพารากอนในช่วงสัปดห์ที่ผ่านมานั้นพบว่า แกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน 3 คือร้อยละ 72.8 ระบุเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 27.2 ระบุเชื่อว่าเป็นอาชญากรรมทั่วไป
และเมื่อสอบถามต่อไปถึงความรู้สึกวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุความวุ่นวายจนนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายได้อีกครั้งนั้น ผลสำรวจพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.3 ระบุรู้สึกกังวล ในขณะที่ร้อยละ 17.7 ไม่รู้สึกกังวล
นอกจากนี้เมื่อสอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและ คสช. พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 95.5 ระบุค่อนข้างเชื่อมั่น-เชื่อมั่นมากที่สุด ว่ารัฐบาล และ คสช.จะสามารถป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ ร้อยละ 3.6 ระบุปานกลาง และร้อยละ 0.9 ระบุไม่ค่อยเชื่อมั่น-ไม่เชื่อมั่นเลย