กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ปตท.
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 6.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 8.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 4.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 6.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- บริษัท Baker Hughes Inc. เผยตัวเลขแท่นผลิตน้ำมันดิบ(Oil Rig) ที่ดำเนินการอยู่ ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 30ม.ค. 58 ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน 94 แท่น ลดลงมากสุดนับแต่มีการทำการสำรวจ มาอยู่ที่ 1,223 แท่น ชี้ให้เห็นว่าระดับราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำส่งผลกระทบโดยตรงต่อการขุดเจาะในสหรัฐฯ
- Commodity Future & Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนของสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ม.ค. 58 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะการซื้อสุทธิ (Net Long Positions) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3,042 สัญญา มาอยู่ที่228,968 สัญญา
- CEO ของบริษัท BP นาย Bob Dudley เผยบริษัทมีแผนที่จะลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินทรัพย์ (Capital Expenditures) ในปี 2558 ลงจากที่เคยตั้งไว้ที่ 2.4 – 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ บริษัท China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) ของจีนเผยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในปี2558 ลง 26% - 35% มาอยู่ที่ 7 - 8 หมื่นล้านหยวน ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 8 %
- บริษัทข้อมูลทางด้านพลังงาน IHS Energy เผยราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำในปัจจุบันและการลดค่าใช้จ่ายของบริษัทขุดเจาะน้ำมันต่างๆ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หยุดเติบโตหรือเติบโตช้าลงในปี 2558
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ม.ค. 58 เพิ่มขึ้น 6.3 ล้านบาร์เรล เพิ่มต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ที่ และอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 413.1 ล้านบาร์เรล และสูงกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์จะเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล
- Reuters คาดการณ์กลุ่มประเทศ OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 130,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 30.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแองโกลาผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 160,000 บาร์เรลต่อวัน และลิเบียสูญเสียกำลังการผลิตไปกว่า 350,000 บาร์เรลต่อวัน จากเหตุความไม่สงบในขณะที่ซาอุดีอาระเบียคงการผลิตไว้ระดับเดิม
- กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงาน ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 58 เกือบคงที่จากเดือนก่อนหน้า โดยลดลงจากเดือนก่อน 10,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนปริมาณการส่งออกผ่านท่อขนส่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากรัฐบาลปรับลดภาษีส่งออก มีผลตั้งแต่เดือน ม.ค. 58
- Markit Economics ร่วมกับ HSBC รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers' Index-PMI) ของจีนในเดือน ม.ค. 58 เกือบคงที่ โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.1 จุด มาอยู่ที่ 49.7 จุด ยังคงต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจหดตัว ซ้ำดัชนีย่อยด้านการจ้างงานลดลงเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นจากรายงานของบริษัท Baker Huges รายงานปริมาณแท่นขุดเจาะที่ดำเนินการอยู่ลดลงต่อเนื่องโดย จำนวนแท่นขุดเจาะในสหรัฐฯเฉลี่ยตลอดเดือน ม.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 199 แท่น อยู่ที่ 1,683 แท่น ขณะที่ปริมาณแท่นขุดเจาะทั่วโลกที่ดำเนินการเดือน ม.ค. 58 ลดลงจากเดือนก่อน 261 แท่น อยู่ที่ 3,309 แท่น ผนวกกับกระแสการลดค่าใช้จ่ายลงทุนของบริษัทน้ำมันที่ล่าสุด Statoil ของนอร์เวย์ลด Capex ลง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านเหรียญฯ และการสู้รบหนักหน่วงในลิเบียจนท่าส่งออกน้ำมันดิบHariga ที่สามารถส่งมอบน้ำมันดิบได้วันละ 110,000 บาร์เรล และ สามารถใช้งานได้แห่งสุดท้ายต้องปิดดำเนินการซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียลดลงต่ำกว่า 300,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจจีนไม่แข็งแกร่งจากมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค. 58 ลดลงจากปีก่อน 3.3% และการนำเข้าลดลงจากปีก่อน 19.9% ต่างจากที่นักวิเคราะห์ประเมินการส่งออกจะเติบโตที่ 6.3% และ การนำเข้าลดลง 3% ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายระบุมาตรการกระตุ้นสภาพคล่องของเงินหยวน ทั้งมาตรการการเงินผ่อนคลาย และการลด RRR ยังไม่พอเพียงสำหรับชดเชยการไหลออกของเงินทุน (Capital Outflow) ให้ติดตามสถานการณ์ในไนจีเรียที่ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจาก 14 ก.พ. เป็น 28 มี.ค. 58 จากความไม่สงบในประเทศเกิดจากกลุ่ม Boko Haram สัปดานี้คาดการณ์ว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 56.79 - 60.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50.33 - 54.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52.24-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงานผู้ค้าในตลาดเอเชียเหนือเชื่อว่าปัจจัยตามฤดูกาลในสหรัฐอเมริกาซึ่งกดดันให้อุปสงค์น้ำมันเบนซินตกต่ำ ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังฤดูหนาวกำลังจะผ่านพ้นไป ผู้ค้าโดยเฉพาะบริเวณ West Coast ของสหรัฐฯ เริ่มเก็บสำรองตระเตรียมไว้ล่วงหน้าสำหรับฤดูขับขี่ท่องเที่ยวซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่ Memorial Day (วันที่ 25 พ.ค. 58) ส่งผลให้เกิด Arbitrage จากเอเชียไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ.58 และ Reuters รายงาน ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนำเข้าน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นสูงในระยะนี้ เพื่อกักตุนไว้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าไนจีเรียจะเกิดเหตุวุ่นวายในประเทศ หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 28 มี.ค. 58 จนอาจนำไปสู่การขาดแคลนน้ำมันเบนซินได้ และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่4 ก.พ.58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 370,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.37 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts เผยโรงกลั่นRuwais กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีแผนเริ่มดำเนินการโรงกลั่นในเดือน มี.ค. 58 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก 2.6 ล้านตันต่อปี มาอยู่ที่ 5.6 ล้านตันต่อปี ขณะที่โรงกลั่น Yasref (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ของซาอุดีอาระเบียได้เริ่มดำเนินการหน่วย CDU ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 90,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 360,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ11.07 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.84-69.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก Reuters รายงาน บราซิล เวเนซูเอลา และเอกวาดอร์ นำเข้าน้ำมันดีเซล จากสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมากทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ปิด Arbitrage ของน้ำมันดีเซล Gulf Coast ของสหรัฐฯ สู่ยุโรป ประกอบกับ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 58 ลดลง จากสัปดาห์ก่อน 0.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.36 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามPlatts รายงาน ราคา น้ำมันดีเซล 0.001%S ในตลาดจรเอเชีย ต่ำกว่าราคา MOPS + 0.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (ตั้งแต่เริ่มมีการประเมินราคา MOPS น้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำเมื่อปลายปี 51)เนื่องจากตะวันออกกลางผลิตมากขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันในเอเชียต่างเร่งอัตราการกลั่นสูงขึ้นในช่วงที่ค่าการกลั่น (Refining Margin) สูง ขณะที่อุปสงค์ในเอเชียยังคงตกต่ำจากพิษเศรษฐกิจ อีกทั้ง Reuters รายงาน รัสเซียจะส่งออกน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ จากท่าส่งออกทางทะเล Baltic เมือง Primorsk ในเดือน ก.พ. 58 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.8% มาอยู่ที่ 8.98 ล้านบาร์เรล อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.พ.58 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.96 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.77 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 6 เดือนครึ่ง สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.92-70.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล