กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
เดินหน้าหนุนโรงแรม-รีสอร์ทใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยว มุ่งเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ กระตุ้นตลาดช่วยเหลือชาวสวน แก้ราคาตกต่ำ
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้แบบยั่งยืน กระทรวงเกษตรฯเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการใช้ดอกกล้วยไม้เป็นสื่อแทนใจในวันวาเลนไทน์และงานเทศกาลอื่นๆหรืองานพิธีการสำคัญๆ เพื่อขยายช่องทางตลาดกล้วยไม้ให้เกษตรกรให้กว้างขวางขึ้น
สำหรับ กล้วยไม้นอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว กล้วยไม้ยังเป็นพืชที่ทรงคุณค่า เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการปลูกเลี้ยงกว่าจะออกดอก และเมื่อออกดอกแล้วก็สามารถอยู่ได้นานกว่าจะโรย ซึ่งปัจจุบันมีกล้วยไม้หลายสายพันธุ์และหลากสีสันสวยงาม อาทิ กล้วยไม้สกุลหวาย ม็อคคารา แวนดา ฟาแลนนอปซีส รองเท้านารี และกล้วยไม้สกุลช้าง เป็นต้น กล้วยไม้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คู่รักทุกวัยสามารถใช้สื่อรักแทนใจส่งมอบให้แก่กันในวันที่ 14กุมภาพันธ์หรือวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ โดยอาจส่งมอบในรูปแบบช่อบูเก้ แจกันสื่อรัก พวงมาลัยหัวใจ หรือต้นกล้วยไม้พร้อมดอก ซึ่งเชื่อมั่นว่าผู้ที่ได้รับจะชื่นชอบและมีความพึงพอใจอย่างยิ่งไม่แพ้การได้รับดอกกุหลาบ เพราะดอกกล้วยไม้บานทนและบานนานกว่า 1 เดือน และราคาไม่แพง
“กระทรวงเกษตรฯมีแผนจัดกิจกรรม“กล้วยไม้” สื่อรักแทนใจวันวาเลนไทน์ โดยส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะคู่รักทุกเพศทุกวัยใช้กล้วยไม้สื่อรักแทนใจ เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึก ความจริงใจ พร้อมแสดงความระลึกถึงและส่งมอบความรักที่ยั่งยืนและยาวนาน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะนำช่อดอกไม้ที่ทำจากกล้วยไม้ไปมอบให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในการประชุม ครม.วันอังคารที่ 10 ก.พ.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า นอกจากรณรงค์การใช้กล้วยไม้ในวันวาเลนไทน์แล้ว ในอนาคตยังมีแผนที่จะส่งเสริมการใช้กล้วยไม้ในงานเทศกาล งานพิธีการสำคัญ และโอกาสต่างๆอีกด้วย อาทิ เทศกาลตรุษจีน สงกรานต์ ลอยกระทง งานแต่งงาน และอวยพรปีใหม่ เป็นต้น ขณะเดียวกันโรงแรมและรีสอร์ททั่วประเทศยังสามารถใช้กล้วยไม้ประดับตกแต่งสถานที่ เพื่อสร้างสีสัน หรือร้อยเป็นพวงมาลัยส่งมอบให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อต้อนรับและสร้างความประทับใจได้ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้กล้วยไม้และกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาราคากล้วยไม้ตกต่ำและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การผลิตกล้วยไม้ ประมาณ 22,000 ไร่ เกษตรกร ประมาณ 3,000 ราย มีผลผลิตดอกกล้วยไม้ ประมาณ 45,000-46,000 ตัน/ปี โดยกล้วยไม้ตัดดอก ประมาณ 46 % ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ และใช้ภายในประเทศ 54 % ขณะเดียวกันไทยยังมีการส่งออกต้นกล้วยไม้ด้วย โดยมีมูลค่าส่งออกรวมกว่า 3,000 ล้านบาท/ปี มีตลาดส่งออกหลัก คือ ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น หากสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายกล้วยไม้ให้กับเกษตรกรกว้างขวางมากขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการใช้กล้วยไม้ภายในประเทศอย่างแพร่หลาย คาดว่าจะสามารถกระตุ้นกลไกตลาดและยกระดับราคากล้วยไม้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาราคากล้วยไม้ตกต่ำได้ ทั้งยังช่วยผลักดันมูลค่ากล้วยไม้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,400-3,500 ล้านบาท/ปี