กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เป็น "นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ" ประจำปี 2557 ของสภาวิจัยแห่งชาติ โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณใน 3 สาขา ได้แก่ ปรัชญา นิติศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ด้วยผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่มและเป็นผลงานที่สะสมกันมา ทั้งเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการ ดังนี้
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาปรัชญา:
ศาสตราจารย์ สายันต์ ไพรชาญจิตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.สายันต์ ได้จัดทำผลงานวิจัยทั้งในด้านโบราณคดีกระแสหลักและโบราณคดีชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรด้านวัฒนธรรม ตลอดจนพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ทั้งต่อตนเอง ต่อท้องถิ่น ต่อทรัพยากรทางโบราณคดีและวัฒนธรรมของชุมชน
สำหรับผลงานวิจัยของ ศ.สายันต์ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงแรก พ.ศ. 2524-2542 ระหว่าง รับราชการในตำแหน่งนักโบราณคดีอยู่ในกรมศิลปากร ได้ดำเนินการวิจัยทางโบราณคดีกระแสหลัก (Conventional archaeology) ใน 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่
1. โบราณคดีของเครื่องถ้วยสมัยโบราณในประเทศไทย (Archaeology of Ancient Ceramics in Thailand)
2. โบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทย (Underwater Archaeology in Thailand)
3. โบราณคดีในล้านนา (Archaeology in Lan Na Northern Thailand) และ
4. โบราณคดีกู้แหล่ง (Rescue Archaeology) การประเมินผลกระทบและกอบกู้ทรัพยากรทางโบราณคดีที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน
โดยมีผลงานที่เผยแพร่เป็นหนังสือวิชาการจำนวน 12 เล่ม บทความทางวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 58 บทความ
การวิจัยในช่วงที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2542-ปัจจุบัน ศ.สายันต์ ดำเนินการวิจัยเรื่อง “กระบวนการโบราณคดีชุมชน : Community Archaeology Process” ซึ่งเป็นงานโบราณคดีประยุกต์ในการพัฒนาชุมชน เพื่อหาแบบแผนที่เหมาะสมในการพัฒนาชุมชนมิติวัฒนธรรม และเป็นการเสริมสร้างความสามารถของประชาชนในท้องถิ่นให้รู้ เข้าใจ เข้าถึงมรดกทางโบราณคดีจนสามารถดูและจัดการ อนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์แหล่งโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นได้ด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ทางโบราณคดีเกี่ยวกับแหล่งผลิต เครื่องถ้วยชามสมัยโบราณ แหล่งผลิตเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การจัดการมรดกวัฒนธรรมประเภทพระเจ้าไม้ ขยายผลไปสู่การพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น และการศึกษาเชิงนโยบายเพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการโบราณสถาน โบราณวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจาก รางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี 2557 นี้ ศ.สายันต์ ยังได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยระดับดีเด่น สาขาปรัชญา ประจำปี 2557” จากผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาทางโบราณคดีเพื่อสังเคราะห์ความรู้เรื่องเทคนิควิทยาการผลิต แบบแผนทางศิลปะ และความหมายทางวัฒนธรรมของเครื่องถ้วยเคลือบในแหล่งเตาบ้านเตาไหแช่เลียง จังหวัดน่าน และแหล่งเตาพะเยาที่เวียงบัว จังหวัดพะเยา” อีกด้วย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขานิติศาสตร์ :
ศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ วงศ์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.อำนาจ ได้จัดทำผลงานวิจัยเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงกฎหมายทรัพยากรน้ำและจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และโครงการยกร่างกฎหมายเหมืองแร่ เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเหมืองแร่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นธรรม
ศ.ดร. อำนาจ กล่าวว่า “การปรับปรุงกฎหมายทรัพยากรน้ำควรมีเนื้อหาและรูปแบบเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุที่กฎหมายในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้เท่าใดและบางครั้งก่อให้เกิดปัญหาการจัดสรรน้ำที่ไม่เป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่น การสูบน้ำไปใช้ของคนต้นน้ำเพื่อสนองความจำเป็นต่อกิจการของตน แม้ว่าจะสร้างความเดือดร้อนให้คนที่อยู่ท้ายน้ำ แต่ก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ เพราะศาลฎีกาเคยตัดสินแล้วว่า น้ำเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและเจ้าของที่ดินริมทางน้ำสามารถสูบน้ำไปใช้ตามความจำเป็น
นักวิจัยจึงนำเสนอให้มีการแบ่งการใช้น้ำออกเป็น 3 ขนาดสำหรับน้ำนอกเขตชลประทาน คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยการใช้น้ำขนาดเล็ก เช่น การใช้น้ำในครัวเรือน การใช้น้ำเพื่อยังชีพ ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตหรือคุมเข้ม แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ส่วนกลางว่า ต้องไม่ไปกระทบสิทธิ์คนอื่น ขณะที่การใช้น้ำขนาดกลาง ต้องกระจายอำนาจให้คณะกรรมการลุ่มน้ำในแต่ละลุ่มน้ำไปจัดสรรอนุญาตกันเอง โดยจะต้องกำหนดว่าใช้น้ำในพื้นที่กี่ไร่ ปริมาณเท่าใด ทั้งนี้ นักวิจัยได้ออกแบบกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นด้วยเหตุผลของความแตกต่างในพื้นที่การใช้น้ำในแต่ละภูมิภาค ส่วนการใช้น้ำขนาดใหญ่จะมีผลกระทบข้ามลุ่มน้ำและการใช้น้ำอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องให้องค์กรระดับชาติ คือ คณะกรรมการน้ำแห่งชาติหรือคณะกรรมการนโยบายและการบริหารน้ำแห่งชาติหรือผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลภาพรวมการใช้น้ำของทั้งประเทศ ซึ่งหากมีร่างกฎหมายน้ำใหม่นี้ออกมา การแย่งการใช้น้ำอย่างไม่เป็นธรรมและใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยจะไม่เกิดขึ้น เพราะการใช้น้ำขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบมากมายจะไม่สามารถสูบน้ำได้ตามใจชอบ จะต้องได้รับอนุญาต นอกจากนี้ การที่มีต้นทุนเพิ่มในการใช้น้ำด้วยการเก็บค่าน้ำย่อมส่งผลให้เกิดการประหยัดและบริหารจัดการทรัพยากรดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย”
“สำหรับโครงการยกร่างกฎหมายเหมืองแร่ ที่ผ่านมา กฎหมายดังกล่าวล้าสมัยแต่เป็นกฎหมายที่มีใบอนุญาตมากที่สุด ก่อให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อน จึงนำเสนอโมเดลขึ้นใหม่โดยใช้หลักการเดียวกับกฎหมายทรัพยากรน้ำ คือ การแบ่งสัมปทานเหมืองแร่ออกเป็น 3 ขนาด โดยขนาดใหญ่อาจให้รัฐมนตรีเป็นคนดูแล ขนาดกลางเป็นอธิบดีหรือปลัดกระทรวง ขนาดเล็กเป็นผู้ว่าราชการหรือผู้นำท้องถิ่น โดยมีคณะกรรมการซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนคอยควบคุมการใช้ดุลพินิจของผู้อนุญาต ขณะเดียวกันก็เสนอแนวคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่หรือชุมชนที่เหมืองแร่ตั้งอยู่ได้รับผลตอบแทนอย่าง เป็นธรรม อาจจะมีการตั้งกองทุนขึ้นสำหรับช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ขณะเดียวกันยังมีความพยายามที่จะปรับแก้กฎหมายในประเด็นการทำเหมืองแร่ที่อยู่ลึกจากพื้นดิน 100 เมตร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินว่า กฎหมายแร่ที่บัญญัติว่าผู้ทำเหมืองแร่ลึกจากพื้นดิน 100 เมตรโดยไม่ต้องจ่ายเงินให้เจ้าของที่ดินนั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักวิจัยมองว่า เจ้าของที่ดินที่มีเหมืองแร่ใต้ดินนี้ควรได้รับค่าชดเชยเพื่อความเป็นธรรมโครงการวิจัยดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น”
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ :
ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
ศ.ดร.ธนารักษ์ ได้จัดทำผลงานวิจัย ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน 1.การประมวลผลภาษาธรรมชาติ 2. การทำเหมืองข้อมูล และ 3. การทำสารสนเทศแบบอัจฉริยะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อการค้นหาข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง องค์กร และประเทศ
ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าวว่า “งานวิจัยจะเน้นในเรื่องของการนำคอมพิวเตอร์มาจัดการเกี่ยวกับภาษาพูดหรือภาษาเขียน โดยเน้นในด้านภาษาไทย ดังนั้นจึงนำข้อมูลโมเดลทางด้านคอมพิวเตอร์ไปทำเหมืองบนข้อมูลภาษาไทยเพื่อจะหาความสัมพันธ์ หรือหาข้อความออกมาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ถ้าหากสามารถทำให้เข้าใจในระบบเดียวกันได้ก็จะมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ที่ต้องการหาข้อมูลเพื่อที่จะนำข้อมูลไปประกอบการทำเอกสาร หรืออยากจะทราบถึงความเป็นมาของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งก็สามารถที่จะหาข้อมูลจากตรงนี้ได้ ในส่วนของฐานข้อมูลทางการแพทย์นั้น ก็สามารถนำข้อมูลมารวมอยู่ที่เดียวกันเพื่อให้ผู้ค้นหาข้อมูลได้รับทราบข้อมูลอาการหรือความผิดปกติต่อร่างกายการรักษาและแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ก่อนที่จะไปพบแพทย์ โดยปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะใช้วิธีการหาข้อมูลด้วยการค้นหาใน Google ก่อนเพื่อหาข้อมูลว่าอาการที่เป็นอยู่เป็นโรคเกี่ยวกับอะไรได้บ้างซึ่งจะเสียเวลาในการหาข้อมูล จึงจัดทำฐานข้อมูลศูนย์รวมของฐานความรู้ทางด้านการแพทย์ที่รวมอยู่ด้วยกัน บุคคลทั่วไปก็สามารถมาค้นคว้าหาข้อมูลได้จากจุดนี้จุดเดียว”
นอกจากนี้ ศ.ดร.ธนารักษ์ ได้จัดทำ ธรรมาแทรนส์ ThammaTRANS (Shuttle Bus Tracking Application) แอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนสำหรับติดตามแบบเรียลไทม์ว่า รถบริการ NGV ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ต้องการขึ้นอยู่ที่ไหนแล้ว ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย เช่น กิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมสัมมนา ก็สามารถดูได้จากจุดศูนย์รวมจุดนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถเผยแพร่ข้อมูลงานวิชาการและงานวิจัยออกไปสู่ประชาคมธรรมศาสตร์ต่อไป
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำนโยบายมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของสังคม