แพทย์วิจัยยาลดพิษเคมี-รังสีบำบัดสำเร็จ พลิกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งให้ดีทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 1997 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--3 ธ.ค.--ศูนย์ประชาสัมพันธ์
แพทย์วิจัยยาลดผลข้างเคียงเคมี-รังสีรักษาในผู้ป่วยมะเร็งสำเร็จ ระบุ FDA สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้เรียบร้อยแล้ว เผยไทยมีแนวโน้มใช้ยาใหม่ พร้อมวิจัยควบคู่ สร้างความปลอดภัยเพื่อพลิกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็ง
ดร.พญ.เลสลี รุซเซล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง จากสหรัฐอเมริกาเปิดเผยภายหลังการประชุมวิชาการโรคมะเร็งแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ว่า ขณะนี้นักวิจัยและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งในต่างประเทศ ทำวิจัยยา Amifostine สำเร็จแล้วโดยยาดังกล่าวแพทย์จะนำมารักษาผู้ป่วยมะเร็ง ร่วมกับการใช้ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา เพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วยวิธีเหล่านั้น อาทิ พิษต่อไต พิษต่อระบบประสาท และพิษต่อไขกระดูก เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ พบว่า ยา Amifostine สามารถลดผลข้างเคียงจากยา Carboplatin ที่เกิดต่อไขกระดูกได้ถึง 40% รวมทั้งลดผลข้างเคียงของยาแอนทราไซคลิน ที่เกิดต่อหัวใจ และเมื่อนำยา Amifostine มารักษาร่วมกับการฉายแสงพบว่า การอักเสบของเยื่อบุช่องคอและปากลดลง
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผลการรักษาของยา Amifostine นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อผลการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากยาดังกล่าวเลือกป้องกันเซลล์ปกติ แต่ไม่ป้องกันเซลล์มะเร็งจากยาเคมีบำบัด เพราะเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้มีลักษณะแตกต่างกัน และมีความไวในการจับยา Amifostine ไม่เท่ากัน โดยเซลล์ปกติจะมีความไวมากกว่า
ดร.พญ.เลสลี ยังกล่าวถึงกลไกพิเศษของยา Amifostine ว่า แพทย์จะฉีดยานี้ให้กับผู้ป่วยมะเร็งก่อนให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายแสงโดยยาดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นสารที่ไวต่อปฏิกิริยา ซึ่งเรียกว่า free thiol ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัดแล้ว free thiol จะจับกับดีเอ็นเอ หรือ อาร์เอ็นเอ ของเซลล์ปกติไว้ ทำให้เซลล์ปกติไม่ได้รับพิษจากยารักษามะเร็ง
นอกจากนี้ สาร free thiol จะจับกับอนุมูลอิสระในร่างกายที่เกิดจากการฉายแสง และยาเคมีบำบัดบางตัว ก่อนที่อนุมูลอิสระจะทำปฏิกิริยากับเซลล์ปกติ ที่อาจทำอันตรายหรือเป็นพิษต่อเซลล์ปกติในภายหลังได้
ส่วนผลข้างเคียงของการใช้ ยา Amifostine นั้น อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน รวมทั้งความดันโลหิตลดลง ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ แพทย์จะรักษาตามอาการให้หายเป็นปกติได้ เพราะยาที่รักษาอาการข้างเคียงเหล่านี้ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการรักษาดี
"ขณะนี้ ยา Amifostine ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมทั้งประเทศอื่น ๆ กว่า 28 ประเทศทั่วโลก ให้ใช้ยาดังกล่าวรักษาผู้ป่วยมะเร็งในประเทศเหล่านั้นได้แล้ว และคาดว่าในอนาคต ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกจะนำยาดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น" ดร.พญ.เลสลีกล่าว
ด้าน น.พ.ไพโรจน์ สินลารัตน์ ภาควิชาอายุรแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้ยา Amifostine ในประเทศไทยว่า ในอนาคตประเทศไทยอาจจะนำยา Amifostine เข้ามารักษาผู้ป่วยมะเร็งร่วมกับวิธีอื่น ๆ เพราะยาดังกล่าวสามารถลดอาการข้างเคียงจากเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
"อย่างไรก็ตาม แพทย์จะต้องทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยคนไทยด้วย เพื่อดูประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาต่อผู้ป่วย เพราะสภาพร่างกายของคนแต่ละภูมิภาค หรือเชื้อชาติ มีลักษณะแตกต่างกัน ทำให้ความสามารถในการรับยาอาจไม่เท่ากัน" น.พ.ไพโรจน์กล่าว
ปัจจุบันโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการตายของคนไทยในอันดับที่ 3 รองจากอุบัติเหตุและโรคหัวใจ โดยมีอัตราการตาย 109 รายต่อประชากรแสนคน และสถิติผู้ป่วยมะเร็งเมื่อปี 2538 พบว่ามีผู้ป่วยเพศชาย ประมาณ 30,000 ราย และเพศหญิงประมาณ 30,000 ราย ในอนาคตคาดว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นปีละ 60,000 ราย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ