กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กรมสุขภาพจิต
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติครั้งที่ 1/2558 โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัด สธ. และ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งเป็นกรรมการเข้าร่วมประชุมด้วย ว่า การประชุมในครั้งนี้มีความคืบหน้ามากขึ้นในเรื่องของการนำส่งผู้ป่วยจิตเวชกรณีฉุกเฉินโดยเตรียมทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมสุขภาพจิต สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.1669) และทีมบุคลากรสาธารณสุข ในการนำส่งผู้ป่วยจิตเวชเข้าสู่การรักษาอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งจัดทำหลักสูตรการนำส่งหรือการดูแลผู้ป่วยจิตเวช สำหรับ บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ตำรวจและสถานบำบัดรักษา ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ใน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต (ฉบับปรับปรุง) ได้เพิ่มเติมในส่วนของการส่งเสริม ป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เข้าไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่เน้น “การป้องกัน” มากกว่า “การแก้ไข” โดยเตรียมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการสร้างเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูผู้มีความผิดปกติทางจิต ขึ้น เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้ผู้มีความผิดปกติทางจิตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ จิตครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านการส่งเสริม การป้องกัน การบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ พัฒนาแนวทางการสื่อสารความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักในการดูแลภาวะจิตใจของบุคคล ครอบครัว ชุมชน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ความผิดปกติทางจิตและโรคจิตเวชต่างๆ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นที่รวมถึงสื่อสารมวลชนในการมีบทบาทช่วยสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกัน และควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต ทั้งนี้ ได้เร่งให้นำ ร่าง พ.ร.บ. สุขภาพจิต (ฉบับปรับปรุง) เข้าที่ประชุม ครม. โดยเร็ว
ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากการประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็น ต่อการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพจิต จำนวน 305 คน จากผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รพศ./รพท. สถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัย องค์กร/หน่วยงานภาคเอกชน/มูลนิธิต่างๆ ผู้ป่วยและญาติ และประชาชนทั่วไป พบว่า ส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.สุขภาพจิต ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การมีกลไกการดำเนินงานที่เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวช เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อตัวผู้ป่วยและคนในสังคม ซึ่ง รองนายกฯ มอบให้กรมสุขภาพจิตพิจารณาในรายละเอียดว่ามีข้อความที่อาจจะขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่
สำหรับการเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพจิต การป้องกันและควบคุมปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต บรรจุลงใน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต นั้น ประกอบด้วย การจัดทำแผนยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม เชื่อมโยงและสอดคล้องกันในทุกระดับ โดยการจัดตั้งกลไกที่ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรทางวิชาการ และภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม หน่วยงานของรัฐและเอกชนในทุกระดับมีหน้าที่ปฏิบัติตามแผน ตลอดจน สื่อมวลชนทุกแขนงมีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพจิตและการป้องกันปัจจัยที่คุกคามสุขภาพจิต ซึ่งจะเชิญตัวแทนสื่อสารมวลชนเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการพัฒนาการสร้างเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูผู้มีความผิดปกติทางจิต ด้วย ทั้งนี้ คาดว่า จะนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ฉบับสมบูรณ์ ต่อกระทรวงสาธารณสุข ในเดือน มี.ค.58 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว