กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ทุก ๆ ปีพอถึงช่วงฤดูแล้งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ ๑๐ จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน และตาก มักจะทำการเผาทำลายตอซังฟางข้าวเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกสำหรับฤดูกาลใหม่ ซึ่งการเผาตอซังฟางข้าวเหล่านี้ ทำให้เกิดความร้อนมีหมอกควันไฟ ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายปกคลุมไปทั่วบริเวณกว้างหลายจังหวัด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมลภาวะและภาวะโลกร้อน มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์และสัตว์เลี้ยง โดยความร้อนจากการเผาทำให้สภาพกายภาพของดินเปลี่ยนไป ทำให้จุลินทรีย์ดินและสิ่งมีชีวิตในดินตาย ทำให้สภาพดินเสื่อมโทรมและส่งผลเสียต่อครอบครัวตลอดจนตัวเกษตรกรเอง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทำการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้เห็นโทษและผลเสียของการเผาตอซังฟางข้าวในพื้นที่นา แล้วให้หันมาใช้วิธีไถกลบลงดินแทนซึ่งเป็นวิธีแบบบ้าน ๆ แต่ให้ประโยชน์เป็นการปรับปรุงบำรุงดินให้คืนความอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีทางการเกษตรได้อย่างดี
ด้านนายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า การไถกลบตอซังฟางข้าวแทนการเผา เป็นการรณรงค์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกษตรกรไถกลบตอซังฟางข้าว หรือเศษซากพืชไร่ที่เหลืออยู่ในไร่นาหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ลงไปในดินช่วงการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกขณะที่ดินมีความชื้น แล้วปล่อยทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช แล้วจึงปลูกพืชหลักตาม ทั้งนี้ประโยชน์จากการไถกลบตอซังจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้โปร่ง ร่วนซุย เพิ่มการซึมผ่านของน้ำ ทำให้ดินมีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุ ธาตุอาหารพืช และเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ลงในดินปัจจุบันได้มีการนำผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีทางชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ได้แก่ สารเร่ง พด. ๒ ไปทำการหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพโดยใช้เศษปลาสด ไส้ปลา หอยเชอรี่ ผักผลไม้ หรือเศษอาหารจากบ้านเรือน โดยนำน้ำหมักชีวภาพมาช่วยในการหมักย่อยสลายตอซังฟางข้าว น้ำหมักชีวภาพมีประโยชน์มากเพราะเป็นฮอร์โมนพืช ทั้งยังช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ดินซึ่งจะทำหน้าที่ย่อยสลายตอซังฟางข้าวได้ดี ตอซังอ่อนนุ่ม ย่อยสลายได้ง่ายเร็วและไถกลบสะดวกขึ้น
ทั้งนี้ การไถกลบตอซังฟางข้าวร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ สามารถย่อยสลายตอซังฟางข้าวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ดิน เป็นการคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ดิน ทำให้ดินฟื้นคืนชีวิต มีพลังในการเพิ่มพูนผลผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” สำหรับเกษตรกรหรือท่านที่สนใจวิธีการไถกลบตอซังฟางข้าว ร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพ เพื่อการปรับปรุงบำรุงดินช่วยลดต้นทุนการผลิต ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต ๑ – ๑๒ สถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่งใกล้บ้าน หรือหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในชุมชนที่ท่านมีภูมิลำเนา หรือสอบถามที่กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาที่ดิน โทร. ๐๒-๕๗๙-๘๕๑๕ หรือ โทร.สายด่วน ๑๗๖