กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--IR network
บมจ.ลีซ อิท (LIT) เปิดแผนปี”58 เตรียมบุกตลาดลูกหนี้เอกชน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งหรือการรับซื้อหนี้การค้ามากขึ้น หลังแบงค์ยังขยาดปล่อยกู้ เนื่องจากยังไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ “สมพล เอกธีรจิตต์”มองวิกฤติเป็นโอกาส คาดลูกค้าพุ่งกระจาย ตลาดมีโอกาสโตได้อีกมาก ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อทะลุ 1 พันล้านบาท “รายได้-กำไร”โต 30% มั่นใจระบบบริหารความเสี่ยงเป็นเยี่ยม
นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2558 บริษัทเตรียมขยายฐานลูกหนี้เอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อแฟคตอริ่ง (รับซื้อหนี้การค้า) เนื่องจากความต้องการของลูกค้ามีมากขึ้น แม้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ในแง่ของสถาบันการเงินยังไม่ค่อยกล้าปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) มากนัก ทำให้เป็นโอกาสของบริษัทที่จะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มนี้ เพราะมีอัตรากำไรขั้นต้น (มาร์จิน) ค่อนข้างดี แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์การดำเนินธุรกิจที่ยาวนานของบริษัท การบริหารความเสี่ยง และการคัดกรองลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ เชื่อว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยในช่วงที่ผ่านมาหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% เมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรม
“แม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวดีขึ้น แต่เท่าที่มีการพูดคุยกับลูกค้าส่วนใหญ่พบว่าแบงก์ยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่มั่นใจเศรษฐกิจ นี่จึงเป็นโอกาสของเราในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี และคาดว่าพอร์ตสินเชื่อของเราในปีนี้จะทะลุ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ทั้งรายได้และกำไรคาดว่าจะเติบโตประมาณ 30% ตาม Road Map ที่ต้องการให้ LIT เติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไม่ต่ำกว่าปีละ 30%”นายสมพลกล่าว
นายสมพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทเปิดวงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กับกลุ่มลูกค้ารายใหม่ๆที่เป็นเอสเอ็มอีวงเงินต่อเดือนเฉลี่ยประมาณ 60-70 ล้านบาท เท่านั้น แต่ในปี 2557 ภายใต้เศรษฐกิจที่ยังไม่ดีนัก LIT กลับสามารถเพิ่มการให้วงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่งรายใหม่ๆมากกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือนติดต่อกันตลอด โดยล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม 2558 บริษัทสามารถเพิ่มการให้วงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่งรายใหม่ๆเพิ่มเป็น 200 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีอีกมาก และมั่นใจว่าตลาดสินเชื่อแฟคตอริ่งยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากด้วย
“กลยุทธ์ในปีนี้เราจะเข้าไปบุกตลาดสินเชื่อแฟคตอริ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อหนี้ภาคเอกชนให้สูงขึ้นควบคู่การรับซื้อหนี้ภาครัฐที่ LIT ทำได้ดีมาตลอดที่ผ่านมา โดยเห็นว่าปริมาณการรับซื้อหนี้การค้าที่มากขึ้นนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอสินเชื่อกลางน้ำประเภทโปรเจกต์และเทรดไฟแนนซ์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าได้สูงขึ้น นอกจากนี้บริษัทจะรุกประชาสัมพันธ์สโลแกน “ลีซ อิท ไม่ใช่ ลีซ ไอที” ที่คนทั่วไปยังเข้าใจว่าบริษัททำธุรกิจเฉพาะ ลีสซิ่งสินค้าไอที เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงบริษัททำธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ โดยมีบริการสินเชื่อทุกประเภทครอบคลุมสินค้าหลากชนิด” นายสมพลกล่าวในที่สุด
สำหรับพอร์ตสินเชื่อของ LIT ในปี 2556 ก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ปล่อยสินเชื่อ ลิสซิ่ง และไฮ-เพอร์เชส ในสัดส่วน 50% สินเชื่อโปรเจกต์และเทรดไฟแนนซ์ 28% และสินเชื่อแฟคตอริ่ง 22% และในปี 2557 LIT ปรับลดสัดส่วนสินเชื่อลิสซิ่งและไฮ-เพอร์เชส ลงเหลือ 39% สินเชื่อโปรเจกต์และเทรดไฟแนนซ์ ปรับเพิ่มเป็น 31% และสินเชื่อแฟคตอริ่งปรับเพิ่มเป็น 30% เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่ได้ประเมินแล้วจากการใช้สินเชื่อปลายน้ำมาก่อนหน้านี้
ขณะที่พอร์ตสินเชื่อภาครัฐและเอกชนในปี 2556 อยู่ในระดับ 80:20 แต่ในปี 2557 ขยับเป็น 70:30 และในปี 2558 บริษัทมีแผนคงสัดส่วนไว้ที่ระดับ 70:30 เช่นเดิม
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) (LIT) กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2558 จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะในส่วนของกำไรที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับรายได้ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 30% เนื่องจากมีการปรับพอร์ตสินเชื่อ ให้สามารถนำเสนอสินเชื่อให้กับลูกค้าจากสินเชื่อปลายน้ำเข้าสู่สินเชื่อกลางน้ำ ซึ่งให้มาร์จินในอัตราที่สูงกว่า ขณะเดียวกันภาระดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทปรับตัวลดลง เนื่องจากหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ mai ทำให้สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อระดมทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยล่าสุดได้มีการออกตั๋วแลกเงิน (บี/อี) วงเงิน 600 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อ และในอนาคตเตรียมออกหุ้นกู้ เพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการปล่อยสินเชื่อ และลดต้นทุนดอกเบี้ย ขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้ที่คาดว่าจะเสียหรือ NPL ของบริษัทยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2% ของสินเชื่อคงค้างรวมเนื่องจากการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้แนวคิด “From downstream to upstream”