กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
3 E for A เพื่อสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวง
มหาวิทยาลัยกับชุมชน เป็นกิจกรรมสำคัญจำเป็นต่อบทบาทของความเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แทบจะทุกมหาวิทยาลัยจึงมีกิจกรรม หรือโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคมตลอดมา จนเป็นเรื่องคุ้นชิน แต่สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งแม้จะทำงานลงชุมชนมายาวนานเช่นกัน และอาจกล่าวได้ว่าทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมาตั้งแต่แรกๆ ที่เปิดเป็นสถาบันการศึกษาเทคโนโลยี แต่มักถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “มจธ.นั้นไปทำอะไรในชุมชนหลายแห่ง”
“...คนชอบมาถามเสมอที่เห็นเราทำงานอยู่กับชาวบ้าน กับเกษตรกรในชุมชนว่า คุณสอนช่าง ผลิตวิศวกร ไม่มีด้านเกษตรเลยแล้วมาทำอะไรที่นี่ ที่ในชนบท...แต่เชื่อไหมว่าคำถามเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เราหยุดหรือชะงักงันต่อบทบาทหน้าที่ที่ทำอยู่นั้นเลย”
ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มจธ. เล่าให้ฟังว่า มหาวิทยาลัยเริ่มลงพื้นที่ทำงานใกล้ชิดอยู่กับชุมชนมายาวนานราวปี พ.ศ.2525 งานแรกๆ ที่ทำเป็นการช่วยเหลืองานโครงการพระราชดำริฯ และโครงการหลวงฯ มีหน่วยงานสนับสนุนที่ชื่อว่า “ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริฯ” งานแรกๆ คือการไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกมะเขือเทศ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นไม่ได้ทำงานลำพัง มีเพื่อนจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดหาและพัฒนาเมล็ดพันธุ์และแนะนำการเกษตรกรรมให้กับชาวบ้าน และทีมนักวิชาการนักวิจัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญต่างๆ ก็คลุกคลีทำงานร่วมกัน ทันที่ที่ปลูกนั้น พื้นที่การเกษตรต้องมีระบบน้ำ มีคันดิน จึงต้องคิดเรื่องเครื่องมือที่จะทำให้ชาวบ้านสะดวกและทำงานง่ายขึ้น สุดท้ายจึงต้องให้ชาวบ้านวางระบบการจัดการทางการเกษตร ซึ่งตรงจุดนี้เองทำให้ความเป็นวิศวกรรมของ มจธ. ต้องเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านว่าจะวางแผนอย่างไร จะปลูกเมื่อไหร่ จะปลูกวันไหน ปลูกกล้ากี่ต้น วันละเท่าไหร่เพื่อให้แต่ละแปลงให้ผลผลิตออกมาไล่เลี่ยสม่ำเสมอ ทำให้สามารถจัดการผลผลิตได้ง่ายขึ้น
ซึ่งในโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกมะเขือเทศมหาวิทยาลัยยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างโรงงานเล็กๆ เพื่อนำมะเขือเทศจากชาวบ้านมาแปรรูป ใช้เทคนิคกระบวนการระเหยของน้ำทิ้งไป คงเหลือไว้เฉพาะน้ำมะเขือเทศเข้มข้นที่สุด เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งและมหาวิทยาลัยได้ส่งบุคลากรไปช่วยบริหารจัดการและสร้างสมรรถนะความสามารถของชุมชนในการดำเนินการ จนกระทั่งกลายเป็นโรงงานต้นแบบในการใช้อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ความคาดหวังในระยะยาวคือการให้ชุมชนเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานผลิตได้เอง
ดร.ศักรินทร์ ระบุว่าเกษตรกรจะจัดการทางการเกษตรอย่างนี้ได้ ต้องอาศัยศักยภาพด้านวิศวกรรม พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับความรับผิดชอบต่อสังคมทำให้มหาวิทยาลัยสนใจที่จะเอาความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรม พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมอันเป็นรากฐานสำคัญของประเทศ โปรแกรมนี้มหาวิทยาลัยเรียกติดปากว่า “3E for A” (ย่อมาจาก Engineering Energy and Environment for Agriculture)
เพราะการทำการเกษตรไม่ได้มีเฉพาะการปลูกพืชให้งอกงามเท่านั้น แต่การที่จะทำให้เกษตรกรรมได้ผลดีขึ้นยังต้องใช้ศาสตร์ความรู้อีกหลายด้าน เช่น เรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การดึงน้ำมาใช้ในที่ดิน การจัดการของเสียที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว รวมถึงเทคโนโลยีการออกแบบและวิศวกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต เช่น เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องมือง่ายๆ ที่จะไปช่วยเรื่องการเก็บเกี่ยว เครื่องอบแห้ง ไล่ความชื้น ระบบจัดการน้ำ หรือลดการสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นทั้ง 3 เรื่องจึงต้องดำเนินการควบคู่กันไป
“หรือการจัดการโรงเรือนทำอย่างไรเวลาฝนตกแล้วพืชผลไม่เสียหาย ขณะเดียวกันก็ต้องระบายความชื้นได้ดี มีแสงเข้าอย่างเหมาะสม และให้อากาศถ่ายเทสะดวก นอกจากนี้โรงเรือนจะต้องทนต่อพายุ ลม ฝน จะเห็นได้ว่าไม่ใช่การเกษตรโดยตรง แต่เป็นเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยของเราเองมีความถนัด มีอาจารย์ มีนักศึกษาที่พร้อมจะนำเอาความรู้ความสามารถเหล่านี้ไปช่วยเหลือเกษตรกรในชุมชนในพื้นที่ชนบท”
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ มจธ.ทำงานใกล้ชิดอยู่กับชุมชน มีพื้นที่ดำเนินงานหลายแห่ง มีเรื่องหลากหลายประเด็นที่เข้าไปเรียนรู้ร่วมกับชุมชน นำความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเป็นส่วนในการช่วยแก้ไขปัญหาและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น ซึ่งเกณฑ์ในการทำงานในแต่ละพื้นที่จะต้องมีลักษณะของการลงพื้นที่ต่อเนื่องและนานพอสมควรจึงจะเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างจริงจัง และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและเอื้อการทำงานร่วมกับเครือข่าย มหาวิทยาลัยได้ชักชวนให้ชุมชนจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในพื้นที่เพื่อเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนรองรับการทำงานร่วมกันในชุมชน และระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่มาร่วมทำงาน ภายในมหาวิทยาลัยเอง มจธ.ได้จัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมจธ.ได้มีการร่วมเรียนรู้กับชุมชนเละสังคม เช่น “ศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริ” มจธ.มีพื้นที่ทำงานในหลายจังหวัด อาทิ น่าน เชียงใหม่ สกลนคร ตาก บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา เลย พังงา และนราธิวาส
“อย่างที่จังหวัดสกลนครเรามีศูนย์การเรียนรู้ที่นักวิชาการของเราไปประจำอยู่และจำนวนหนึ่งก็เป็นชาวบ้านที่ทำงานร่วมกันกับเรามาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำหน้าที่ประสานงานกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอำนวยความสะดวก เช่น กรณีที่นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ ต้องการลงพื้นที่ไปช่วยทำแผนที่ชุมชน หรือกรณีที่มีนักศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์มาจัดค่ายให้เยาวชน ก็จะมีคนคอยประสานงาน หรือหากชาวบ้านอยากจะรู้เรื่องอะไรก็ตามก็จะเดินเข้ามาปรึกษา ศูนย์นี้ก็จะทำหน้าที่ให้ความรู้หรือประสานหาผู้รู้มาให้ อย่างนี้เป็นต้น มหาวิทยาลัยของเรามีพื้นที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับจ.สกลนครนี้อยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ที่บ่อเกลือ จ.น่าน ที่เชียงใหม่ ที่อมก๋อย ที่บาลาฮาลา จัดขึ้นโดยความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ ดังนั้นถ้าถามว่ามหาวิทยาลัยมีวิธีการปักหมุดพื้นที่ทำงานอย่างไร ก็อาจพอตอบได้ว่าเราเลือกพื้นที่ปักหมุดตามจังหวะและโอกาสที่ได้เข้าร่วมงานและเห็นประโยชน์ร่วมในการทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ บนฐานความเชื่อมั่นว่าบทบาทหน้าที่ของเราที่ทำ จะก่อให้เกิดการร่วมเรียนรู้ควบคู่ไปกับการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมนั่นเอง” ? นอกจากนี้ยังมีหน่วยที่เรียกว่า “ศูนย์สนับสนุนมหาวิทยาลัยกับชุมชนและสังคม” เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้ 3 E for A กับโครงการหลวงเท่านั้น แต่ยังนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยเหลือชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยด้วย เช่น ไปสอนคนในชุมชนใต้สะพานให้ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็น เอาเทคโนโลยีไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและหอยที่บางขุนเทียนในพื้นที่ใกล้มจธ.บางขุนเทียน ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนส้มบางมด ช่วยเรื่องไบโอแก๊สให้กับชาวบ้านรอบๆ มจธ.ราชบุรี เป็นต้น
“นอกเหนือจากที่ว่าแล้ว เรายังมีโครงการเพื่อช่วยเหลือคนพิการ เนื่องจากมหาวิทยาลัยของเรามีเครือข่ายที่เป็นกลุ่มอาชีวะ เป็นช่างเทคนิค กลุ่มวิศวกร โรงงานอุตสาหกรรม และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เราพบว่ามีช่องว่างระหว่างผู้ที่อยากจ้างคนพิการกับการพัฒนาความสามารถคนพิการให้ตรงกับผู้ต้องการจ้าง เราจึงชวนกันทำหน้าที่อบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนพิการให้โรงงานเหล่านั้นรับคนพิการเข้าทำงานประโยชน์สำคัญคือทำให้ลูกศิษย์ของเราได้รู้จักได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมคนพิการ”
อธิการบดี มจธ. กล่าวในตอนท้ายว่า ดังนั้นเมื่อมีคนตั้งคำถามว่า มจธ.ไปทำอะไรที่นั่นที่ในชุมชนห่างไกล กับชุมชนใต้สะพาน จึงตอบได้ว่า มจธ.ไม่ได้ไปทำอะไรที่มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เรากำลังทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม ของประชาคม และเรากำลังทำหน้าที่พัฒนานักศึกษา ผลิตบัณฑิตและต้องเป็นบัณฑิตคุณภาพมจธ. ออกไปแก้ไขปัญหาสังคม ออกไปทำอาชีพที่มีคุณค่ามีความหมายต่อสังคม การทำงานกับชุมชนและสังคมทำให้มีความเข้าใจบริบทของสังคม และฝึกการสื่อสาร การทำความเข้าใจในมิติที่หลากหลาย นอกจากนี้การทำงานกับโจทย์จริง ปัญหาจริงทำให้มีความแตกฉานในสาขาความถนัดของตนเองมากขึ้น เกิดประโยชน์กับการเรียนรู้ของนักศึกษา ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ได้เรียนรู้ด้วย หน่วยงานอื่นๆ ได้ประโยชน์และเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย
? “ความจริงการผลิตบัณฑิตเป็นหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ต้องตอบสนองความต้องการของสังคมในฐานะมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการออกแบบ เราจำเป็นต้องสร้างผลงาน สร้างความรู้และให้บริการเพื่อช่วยให้ประเทศมีสมรรถนะความสามารถสูงขึ้นให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม บทบาทหน้าที่เหล่านี้สอดคล้องเกี่ยวพันกัน มหาวิทยาลัยสามารถทำ 3-4 หน้าที่ ให้เสริมคุณภาพซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มหาวิทยาลัยต้องสร้างกลไกที่ทำให้ทุกบทบาทที่มหาวิทยาลัยทำ ส่งผลโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือเกิดสะท้อนวนกลับไปในการผลิตบัณฑิตคุณภาพใน มจธ.เราจะเน้นย้ำถึงเรื่องนี้เสมอ"