กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--TCELS
TCELS - มหิดล ลงนามความร่วมมือรัฐบาลและสถาบันวิจัยชั้นนำญี่ปุ่น พัฒนาและทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์การแพทย์
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือกับ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยมิตซูบิชิ และบริษัทพานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาและทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ทางการแพทย์
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวว่า TCELSได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนที่นำทางของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสใกล้สำเร็จออกสู่ตลาด นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลเพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการไปจนถึงออกสู่ตลาดเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยโดยรวม และสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งให้กับประเทศได้ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
ดร.นเรศ กล่าวว่า เป็นโอกาสอันดีที่ TCELS และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามความร่วมมือกับ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยมิตซูบิชิ และบริษัทพานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ นอกจากจะะครอบคลุมถึงการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีจากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับว่ามีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์และหุ่นยนต์เพื่อสุขภาพแล้ว ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดแนวทางการพัฒนาเชิงนโยบายด้านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์เพื่อสุขภาพของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับและพร้อมออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วอีกด้วย
ด้าน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ และหัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความเป็นมาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์และศูนย์วิจัย BART LAB ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาทางด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ มาเป็นระยะเวลากว่า 10ปี โดยมุ่งเน้นการผลิตผลงานวิจัย หุ่นยนต์ต้นแบบ และการผลิตบุคลากรทางด้านวิชาการหุ่นยนต์ทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทางภาควิชาฯ และศูนย์วิจัย BART LAB ได้มีความร่วมมือ TCELS ในการพัฒนาโครงการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง โดยส่วนหนึ่งของโครงการ จะดำเนินการจัดตั้ง หน่วยปฏิบัติการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง ในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทดสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของหุ่นยนต์ทางการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำผลงานจากการวิจัยพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ เพื่อการสร้างโอกาสเชิงพาณิชย์อย่างมีระบบและโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์
“ความสัมพันธ์ทางด้านการศึกษาและวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกับภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัทพานาโซนิค คอปอร์เรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์ทางการแพทย์” ดร. จักรกฤษณ์ กล่าว