กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--เซ็นจูรี่ 21
เซ็นจูรี่ 21 ชี้ตลาดอสังหาฯยังไม่น่าห่วง ถึงแม้สถาณการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจะส่งผลต่อภาพรวมเศรฐกิจไทย ทั้งภาวะเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำจนนำไปสู่ภาวะเงินฝืด ส่งผลไปถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยบวกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ยืนยันธุรกิจอสังหาฯยังโตได้ เพียงแต่ต้องปรับตัวและระมัดระวังการลงทุนเพิ่มขึ้น
นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2558 ว่า โดยรวมของตลาดที่อยู่อาศัยยังไม่น่าห่วง คาดปีนี้เติบโตขึ้นประมาณ 5-10% เป็นไปตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประทศ ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลน่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ที่กว่า 2.5-3 แสนล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้เชื่อว่าการลงทุนในปีนี้จะมีผู้เล่นรายใหม่ที่เป็นกลุ่มทุนจากอุตสาหกรรมอื่นมาลงทุนอสังหาฯ โดยจะเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนในอุตสาหกรรมเหล็กที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและมีการควบรวมหรือซื้อกิจการกันในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมาพร้อมจะเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจเพิ่มสัดส่วนรายได้ผ่านธุรกิจอสังหาฯ
นอกจากนี้ยังจะมีผู้ประกอบการที่เคยมีชื่อเสียงในอดีตกลับเข้ามาสู่สังเวียนธุรกิจอสังหาฯรวมถึงมีบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและการขายขยายขอบข่ายธุรกิจสู่การพัฒนาโครงการจัดสรรขายทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม
คาดเปิดตัวโครงการใหม่มูลค่าสูงเฉลี่ย 20%
แม้ภาคธุรกิจจะเผชิญกับปัจจัยลบแต่ที่อยู่อาศัยก็ยังเป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นและในแต่ละปีก็จะมีกำลังซื้อเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆทั้งที่เกิดจากการซื้อเป็นบ้านหลังแรก หรือการซื้อเพื่อลงทุน ด้วยเหตุนี้แม้จะมีปัจจัยลบเกิดขึ้นแต่ดีมานด์ยังมีมาเรื่อยๆ การลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่ก็ยังคงต้องมีเพียงแต่ว่าต้องเดินหน้าลงทุนด้วยความระมัดระวัง แต่อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามมาจากการที่ประเทศไทยนับถอยหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในวันที่ 1 มกราคม 2559 คาดว่าจะช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้มีดีมานด์ใหม่เข้ามาเพิ่มและผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้หากพิจารณาการทยอยประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2558 คาดมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในบางบริษัทมีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่มากกว่า 30 % แต่โดยเฉลี่ยทั้งหมดน่าจะปรับเพิ่มประมาณ 20% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการเมืองในปี 2557 และก็มีบางโครงการติดปัญหา EIA จึงมีการยกยอดโครงการ มาเปิดในปี 2558
แบงก์เข้มปล่อยกู้-ขยับฐานราคาบ้าน 2-2.5 ล้านบาท
“อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำรวมทั้งการเปิดเออีซีก็จะช่วยให้เกิดการค้าการลงทุนคึกคักขึ้น” นายกิติศักดิ์ พร้อมกับให้ความเห็นว่า สิ่งที่กังวลก็คือการเกิดภาวะเงินฝืด ขณะเดียวกันราคาที่ดินที่ปรับขึ้นตลอดอาจส่งผลให้กำลังซื้อตามไม่ทันราคาที่ดินหรือราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับขึ้น ซึ่งนั่นอาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ตลาดรวมในปีนี้เติบโตในระดับที่ไม่หวือหวานัก ขณะที่ที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดอาจชะลอตัวทั้งด้านการขายรวมถึงการเปิดตัวโครงการใหม่ซึ่งจะต่างจากเมื่อ 2-3 ปีก่อน ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็จะมีความเข้มงวดใช้นโยบายการให้เครดิตการปล่อยกู้โครงการที่รัดกุมเพื่อตอบโจทย์ด้านการบริหารสินทรัพย์ให้มีคุณภาพมากขึ้นและเข้มงวดขึ้นกับกลุ่มที่ขอสินเชื่อบ้านหลังที่2 เพื่อรักษาคุณภาพของสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้อยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ หากมองถึงอุณหภูมิการแข่งขันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีความร้อนแรงขึ้นผ่านแคมเปญค่าธรรมเนียมต่างๆ และการเจาะฐานลูกค้าคุณภาพผ่านการจับมือผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มาเมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่จากนี้ไปจะเห็นธนาคาฟี รพาณิชย์ต่างๆส่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อประจำโครงการและยังคงเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบนในชานเมืองเมืองกรุงเทพฯจากการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าของภาครัฐและตลาดที่อยู่อาศัยในหัวเมืองใหญ่ที่ได้รับผลบวกจากการเปิดเออีซีและการค้าชายแดน
โดยในปีนี้คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จเข้ามาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ได้ลงทุนไปในช่วงปี2556-2557 และกว่าจะสร้างเสร็จและส่งมอบให้ลูกค้าหรือโอนกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างปี 2559-2560 และการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามการยอดขายและสร้างยอดรับรู้รายได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2558 จะเป็นปีเริ่มแห่งการปรับฐานราคาที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่ทั้งระบบที่ขยับฐานเริ่มที่ 2.0-2.5 ล้านบาทเข้ามาแทนที่ตลาดจากเดิมที่เริ่มต้นราคา 1.5 ล้านบาทเมื่อเทียบทำเลต่อทำเลในการเปิดตัวโครงการในปีนี้เทียบกับ 2-3 ปีก่อน
การปรับฐานราคาขายเริ่มต้นที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของต้นทุนที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินที่อยู่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการอสังหาฯได้ซื้อที่ดินเตรียมพัฒนาไว้ในช่วงก่อนหน้า
บูมต่อทำเลทอง-เปิดทำเลใหม่เขตเศรษฐกิจพิเศษ
ทั้งนี้ ปัจจุบันทำเลมีศักยภาพในการพัฒนาสูงและเชื่อว่าจะเป็นอีกทำเลที่ปัจจุบันหลายๆส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามที่จะยกระดับทำเลเป็น New CBD รองรับการเปิดตลาดเออีซีนั้น สามารถที่จะแยกทำเลเด่นทั้งที่เป็นทำเลเก่าที่มีการลงทุนต่อเนื่องและทำเลใหม่ในกรุงเทพฯ ดังนี้ 1.การพัฒนาของที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ 2.จุดตัดหรือจุดเชื่อมต่ออินเตอร์เชนจ์ (Interchange) รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ และ 3.การลงทุนอสังหาฯในต่างจังหวัดจะเน้นการลงทุนต่อเนื่องและยังคงยึดเมืองท่องเที่ยวเช่นที่ พัทยา หัวหิน ภูเก็ตและเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีหัวเมืองรองในจังหวัดอื่นๆ อาทิ สุพรรณบุรี, หนองคาย, สกลนคร, มุกดาหาร, อุบลราชธานี, พิษณุโลก และกาญจนบุรี เป็นต้น
โดยจังหวัดต่างๆเหล่านี้ในอดีตจะยังไม่มีผู้ประกอบการอสังหาฯจากส่วนกลางหรือกรุงเทพฯเข้าไปลงทุนแต่จะได้เห็นการลงทุนที่ชัดเจนในปีนี้หลังจากปีที่ผ่านมามีการเข้าไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการและส่วนใหญ่จะเป็นโครงการจัดสรรแนวราบ โดยเชื่อว่าการเปิดเออีซี ในต้นปี 2559 จะทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดขยายตัวประกอบกับรัฐบาลได้เปิดจุดลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น ส่งผลให้การค้าชายแดนมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นจึงเป็นโอกาสการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทย
สำหรับการพัฒนาของที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นนายกิติศักดิ์ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมาได้มีผู้ประกอบการประกาศแผนการลงทุนไปบ้างแล้วและยังมีโครงการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนต่างๆจะได้รับผลบวกทั้งในด้านศักยภาพของทำเลที่ตั้งรวมถึงการลงทุนของภาครัฐที่จะมาช่ววขยสนับสนุน ล่าสุดภาครัฐได้ฟื้นโครงการก่อสร้าง “ทางเลียบเจ้าพระยา” มูลค่า 3 หมื่นล้านบาทขึ้นมาเป็นโครงการเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)เป็นผู้ออกแบบและสำรวจพื้นที่โดยรัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดให้กทม.ตามแผนจะดำเนินการก่อสร้าง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาว 50 กม.(ฝั่งละ25กม.) เริ่มจากสะพานพระราม3-พระนั่งเกล้า ซึ่งจะมีทั้งทางจักรยาน ทางคนเดิน รถเมล์ไฟฟ้า และจุดชมวิวรับนักท่องเที่ยว
นอกจากนั้น ยังมีโครงการทางเดินเชื่อม 2 ฝั่ง แม่น้ำเจ้าพระยา ความยาว 350 ม. ขนาด 2 ช่องจราจร เป็นช่องทางคนเดินและจักรยานเท่านั้น มีจุดชมวิวกลางแม่น้ำงบลงทุน 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกำหนดที่ตั้งทั้งนี้หากมีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวและเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาต่างๆของภาคเอกชนทั้งโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโครงการก่อสร้างเชิงพาณิชย์อื่นๆมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
แรงเหวี่ยงลงทุนจุดตัดรถไฟฟ้าทุกสาย
ส่วนทำเลที่อยู่ตามจุดตัดหรือจุดเชื่อมต่ออินเตอร์เชนจ์( Interchange )หากพิจารณาถึงการเริ่มทยอยเปิดแผนการลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการนั้นส่วนใหญ่ยังเกาะแนวรถไฟฟ้าทั้งที่เป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้วและรถไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะเปิดให้บริการใน1-2ปีข้างหน้า รวมถึงโครงการใหม่ๆที่บรรจุอยู่ในนโยบายการลงทุนของรัฐบาล ทั้งนี้ จุดที่มีอิทธิพลต่อการลงทุนหรือการซื้อขายอสังหาฯนั้นจะเป็นจุดตัดหรือจุดเชื่อมต่ออินเตอร์เชนจ์( Interchange )รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่ขณะนี้ได้มีการนักลงทุนไปซื้อที่ดินไว้ในมือรองรับกับการพัฒนาโครงการต่างๆแล้วและจากนี้ไปจะมีการซื้อและทุบอาคารพาณิชย์ที่อยู่ในรัศมีกว่า 3-5 กิโลเมตรจากจุดเชื่อมต่ออินเตอร์เชนจ์มาสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านโครงการลงทุนสร้างที่อยู่อาศัยแนวสูง โรงแรม และคอมมูนิตี้มอลล์ เป็นต้น
“เขตเมืองกรุงเทพฯชั้นในใกล้แหล่งวัฒนธรรมหรือแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นอาคารสูงไม่ได้เพราะติดข้อจำกัดของผังเมืองก็จะดัดแปลงหรือเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยอาคารมาเป็นบูติกโฮเทล หรือปรับอาคารเก่ามาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดไม่ใหญ่นักเพื่อจับกลุ่มนักช้อปหรือนักท่องเที่ยว”นายกิติศักดิ์ พร้อมกับยกตัวอย่างประกอบด้วย เช่น ทำเลย่านราชเทวี รวมไปถึงทำเลย่านสะพานขาว ที่อยู่ใกล้กับจุดตัดที่เชื่อมต่อทั้ง สายสีเขียวบีทีเอสสถานีราชเทวีและเชื่อมโยงกับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ สายสีแดง(ดอนเมือง-พญาไท-สุวรรณภูมิ )เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะทางกว่า 50 กิโลเมตรนั้นปัจจุบันเปิดให้บริการช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิระยะทาง 28.5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ปัจจุบันทำเลในย่านดังกล่าวมีศักยภาพในการพัฒนาสูงมากและเชื่อว่าจะเป็นอีกทำเลที่ปัจจุบันหลายๆส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพยายามที่จะยกระดับทำเลดังกล่าวรองรับการเปิดตลาดเออีซีย่านพระราม9-มักกะสัน: เมืองศูนย์กลางแห่งอาเซียน
พร้อมกันนี้ผู้บริหารของเซ็นจูรี่ 21ฯ ยังได้ระบุทำเลอื่นๆที่เป็นจุดตัดของเส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่ใจกลางเมืองอีกหลายจุดหลายทำเลจุดตัดMRTย่านพระราม 9 เชื่อมโยงต่อย่านมักกะสัน-เพชรบุรี และหากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นทางตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทางประมาณ 39.8 กิโลเมตร มี 30 สถานี มีความชัดเจนและลงมือก่อสร้างเมื่อไหร่ จะยิ่งช่วยสนับสนุนให้ทำเลโดยรอบต่างๆดังกล่าวและพื้นที่บริเวณใกล้เคียงเป็นที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งถึงแม้ว่าในทำเลดังกล่าวจะมีการลงทุนไปแล้วก่อนหน้า โดยเฉพาะทำเลย่านพระราม 9 ที่ขณะนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คหรือซีบีดีใหม่อีกแห่งแล้ว ส่วนตัวก็เชื่อว่าจะมีการพัฒนาอื่นตามมาอีกมาก โดยที่ตามแผนงานของรัฐบาลต้องการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ในปี 2563 ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งเข้าสู่ใจกลางเมือง ซึ่งก็จะมีบางสถานีที่เชื่อมกับแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ วิ่งเข้าสู่ถนนดินแดง ผ่าน-ชุมชนประชาสงเคราะห์- ศูนย์วัฒน ธรรม -รามคำแหง-มีนบุรีการผ่านเส้นทางต่างๆเหล่านี้จะช่วยให้ทำเลย่านนี้เป็นทำเลทองในการพัฒนาต่อเนื่องไปอีกหลายปี ในขณะที่โครงการที่พัฒนาไปแล้วก่อนหน้าก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
“ก่อนปี2540 ที่ดินย่านพระราม9 คึกคักและมีตระกูลดังๆไปลงทุน แล้วมาในช่วง 4-5ปีที่ผ่านมาความคึกคักมีมากขึ้นและจะมากขึ้นเรื่อยๆทั้งจากอสังหาฯรุ่นเก๋าตระกูลดังและผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาลงทุนรวมนับแสนล้าน อนาคตทำเลย่านนี้ก็คงไม่ต่างจากย่านสยามสแควร์ ส่วนราคาคอนโดฯก็ปรับขึ้น10-20%เมื่อเทียบช่วงเปิดตัวและมีบางโครงการปรับขึ้นสูงกว่า 25 %”นายกิติศักดิ์ กล่าวให้ความเห็น
อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการที่จะมาสนับสนุนให้ทำเลย่านดังกล่าวเป็นทำเลทองทั้งด้านการค้า พาณิชย์ ท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัย เฉกเช่นเมืองใหญ่อื่นๆในต่างประเทศ นั่นคือ ที่ดินย่านมักกะสันในพื้นที่รวมเกือบ500 ไร่ซึ่งหากแผนการพัฒนาชัดเจนเชื่อว่าที่นี่จะเป็นคอมเพล็กซ์ใหญ่ที่พร้อมทุกๆด้าน จะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ และที่ดินในย่านนี้จะเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อพัฒนาให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางอาเซียน เฉพาะมูลค่าที่ดินรวมก็น่าจะ 5-6 หมื่นล้านบาทพัฒนาเสร็จสมบูรณ์น่าจะไม่น้อยกว่าแสนล้านบาท
เตาปูน-บางซื่อ จุดเชื่อมฮอตตลอดแนวรถไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีทำเลที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอสังหาฯและนักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องนั่นคือทำเลตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยที่โดดเด่นก็คือ ทำเลย่านเตาปูน,บางซื่อ ซึ่งเป็นทำเลที่มีจุดเด่นหลายด้าน โดยทำเลเตาปูนที่รถไฟฟ้าสองสายมาบรรจบกันช่วยหนุนให้ย่านนี้เป็นอินเตอร์เชนจ์ที่สมบูรณ์ รวมถึงทำเลย่านบางซื่อและพื้นที่ใกล้เคียงเช่นประชาชื่น ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี และถนนประชาราษฎ์ ซึ่งเป็นทำเลต้นทางรถไฟ 2สายที่กำลังก่อสร้างทั้งสายสีม่วง(บางซื่อ-บางใหญ่)ที่การก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 95%และสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ)ก่อสร้างไปแล้วกว่า 56 % และทยอยสร้างเสร็จในปี2559-2560 รวมถึงโครงการก่อสร้างรถฟ้าชานเมืองสายสีเดง(บางซื่อ-ตลิ่งชัน)ที่ขณะนี้สร้างเสร็จแล้วรอเพียงแต่เปิดวิ่งบริการอย่างเป็นทางการเท่านั้น
โดยทำเลต่างๆดังกล่าวนี้ยังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกมากส่งผลให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น 20-50% และเชื่อว่าราคาที่ดินจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตเพราะเป็นทำเลย่านบางซื่อที่รัฐบาลวางให้เป็นสถานีกลางการคมนาคมของรถไฟฟ้าทุกระบบทั้งรถไฟฟ้าชานเมือง รถทางไกล รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้นอกจากโครงการลงทุนของภาคเอกชนที่ไปปักหมุดรองรับการเติบโตแล้วยังมีโครงการการลงทุนของร.ฟ.ท.ที่มีแผนจะนำเอาที่ดินในพื้นที่บริเวณพหลโยธิน กม.11 ติดกับกระทรวงพลังงานและสำนักงานใหญ่บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) ก็มีแผนจะพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ที่ดินดังกล่าวมีทั้งสิ้นกว่า 350 ไร่แต่ส่วนใหญ่ที่ดินแปลงดังกล่าวได้ค่อนข้างถูกนำไปใช้งานแล้ว จึงคาดว่าจะแบ่งพัฒนาได้ประมาณ 100 ไร่ แผนการพัฒนาดังกล่าวจะส่งต่อพื้นที่โดยรอบอื่นๆรวมถึงพื้นที่ย่านจตุจักร ลาดพร้าวและต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่ย่านรัชดาฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ จุดเชื่อมต่อ Interchange ดังกล่าวนี้รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟสายสีต่างๆที่เชื่อมระหว่างชานเมืองกับในเมืองรวมถึงรถไฟฟ้าชานเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การลงทุนขยายสู่พื้นที่รอบนอกที่เป็นรอยต่อจังหวัดที่อยู่ในปริมณฑล ซึ่งภาพการเปลี่ยนแปลในรูปแบบแลนด์มาร์คใหม่ทำเลชานเมืองที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะจุดเชื่อมทำเลบางซื่อที่เป็นสถานีกลางการคมนาคมนั้นนอกจากจะช่วยบูมทำเลใกล้เคียงแล้วยังขยายการลงทุนกว้างไปถึงกรุงเทพฯทางตอนเหนือ และยังมีโครงการลงทุนศูนย์การค้าส่งขนาดใหญ่ใกล้ๆดอนเมือง รวมถึงการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลได้เคลื่อนทัพลงทุนกว่า1หมื่นนล้านบาทในที่ดินแปลงใหญ่โรงงานทอผ้าไทยเมล่อน เดิมกว่า 600 ไร่ที่ด้านหน้าขนานกับถนนพหลโยธินและด้านหลังติดแนวรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงมาก สอดคล้องกับการขยายตัวของโครงการอสังหาฯหลายโครงการที่มีทั้งแนวสูงและแนวราบซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ที่ดินในย่านกรุงเทพตอนเหนือจะได้รับความสนใจมากขึ้นและเชื่อว่าในปี 2558 จะมีโครงการอสังหาฯใหม่เปิดตัวในโซนนี้มากขึ้น
พร้อมกันนี้ผู้บริหารของเซ็นจูรี่ 21ฯ ยังกล่าวย้ำในตอนท้ายด้วยว่าหากโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐได้รับอนุมัติและเร่งดำเนินการ มีการเบิกจ่ายงบประมาณจะส่งผลบวกต่อธุรกิจอสังหาฯ เพราะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่จะเปิดพื้นที่การลงทุนใหม่ๆขึ้น และการเชื่อมต่อของเส้นทางก็จะช่วยให้การเดินทางของประชาชนจากปริมณฑลด้านหนึ่งไปสู่ปริมณฑลอีกด้านหนึ่งง่ายและสะดวกยิ่งขึ้นทำให้เกิดการขยายการลงทุนแนวราบและแนวสูงไปทั่วปริมณฑลและยังเกิดศูนย์กลางเศรษฐกิจหลากหลายและยังสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกจำนวนมาก