กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--อินทิเกรต คอมมูนิเคชั่น
กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “การศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน” สัญจรสู่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๕-๖ กุมภาพันธ์นี้ ประกวดทักษะและแข่งขันทางวิชาการเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาความรู้ความสามารถของนักเรียน นักศึกษา และครูผู้สอน ให้มีทักษะในด้านต่างๆ บนพื้นฐานของค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ เพื่อเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของอาเซียน เฟ้นหาผู้ชนะเป็นตัวแทนไปประกวดระดับประเทศ ชิงรางวัลเป็นการศึกษาดูงานในต่างประเทศและทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า ๗๐๐,๐๐๐ บาท
นายกมล ศิริบรรณ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ตั้งอยู่ในเส้นทางสายสำคัญที่ยึดโยงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน ซึ่งการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีผ่านถนนที่พาดยาวจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งนำมาซึ่งโอกาสและข้อจำกัดสำหรับคนไทยนานับประการ ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเป็นโอกาสสำหรับผู้มีความพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเมื่อมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนของภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงความท้าทายดังกล่าวได้ และเพื่อใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียน รัฐบาลซึ่งนำโดย ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มีความรู้รอบ เอาตัวรอด และดำรงตนเป็นพลเมืองอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยมีความรู้ทั้งในเรื่องสังคม วิชาการ เทคโนโลยี มีความคิดเชิงวิเคราะห์ สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ทั้งนี้ การจะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความเข้มแข็ง มีความรู้ และก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นใจได้นั้นเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนในการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และสามารถสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยผู้เรียนต้องเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ส่วนครูจำเป็นต้องพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ปลูกฝังขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนอุดมการณ์และความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อให้เป็นพลเมืองอาเซียนที่สามารถดำรงตนในสังคมแห่งพหุวัฒนธรรมอย่างสันติ รวมไปถึงสามารถขยายความสัมพันธ์อันดีร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านและสมาชิกอาเซียน เพื่อให้พลเมืองอาเซียนก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพร่วมกัน โดยเชื่อมั่นว่าการจัด โครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เยาวชนและบุคลากรทางการศึกษาของไทยได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะที่จำเป็น สามารถก้าวสู่เวทีสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมทางวิชาการ และสันทนาการ รวมถึงการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา
นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นกิจกรรมที่ผู้นำประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยการศึกษานับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ผู้นำต่างเลือกใช้ เพื่อสร้างขีดความสามารถและสมรรถนะของคนในประเทศให้มีความพร้อมเป็นพลเมืองของประเทศที่สมบูรณ์และเป็นพลเมืองโลกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในมิติของอาเซียน การศึกษาได้รับการสถาปนาให้เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้เพื่อบูรณาการสามเสาหลักเข้าด้วยกันเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียว มีการบูรณาการทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รับผิดชอบต่อสังคม มุ่งดำเนินการ โดยความร่วมมือด้านการศึกษาภายหลังปี ๒๕๕๘ นั้น ประชาคมอาเซียนมุ่งสานต่อการดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนสามเสาหลัก และดำเนินความร่วมมือตามประเด็นสำคัญด้านการศึกษาที่ส่งเสริม
ความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาในทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง มุ่งเน้นการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ในการพัฒนาคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่รัฐมนตรีศึกษาอาเซียนได้ให้การรับรองในที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๑๑-๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว
สำหรับการดำเนินการภายในประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการตามนโยบายของพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถพร้อมในด้านวิชาการ การคิดวิเคราะห์ การอยู่ร่วมกันในสังคม และการดำรงตนให้เป็นพลเมืองที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม และร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน พัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ รวมไปถึงพัฒนาคนไทยให้รอบรู้ ทันเหตุการณ์ และสถานการณ์ของโลก และพร้อมเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินหน้าสู่อนาคตอย่างมั่นคง ตามแนวคิดของ พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานในการ “เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ เท่าทันเทคโนโลยี สามัคคีอาเซียน” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้สานต่อการจัดกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ยั่งยืนขึ้นด้วยการเสริมสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นจากภายในตัวบุคคลผ่านการปลูกฝังค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ ตามนโยบายของ ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพัฒนาคนไทยในทุกระดับ ให้มีความรักในความเป็นไทย รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีสติ รู้ผิดชอบชั่วดี มีคุณธรรมจริยธรรม รู้จักเคารพตนเองและผู้อื่น รวมไปถึง การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งพหุวัฒนธรรม และก้าวสู่การเป็นพลเมืองอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ และได้จัด “โครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน” ในครั้งนี้ขึ้น
โครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน เป็นการดำเนินการในรูปแบบอาเซียนสัญจร ๔ ภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ สามารถบูรณาการเข้ากับการอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งประชาคมอาเซียน ตลอดจนใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนในการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งกิจกรรมในรอบภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ มกราคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า ๘๐๐ คน
“ในวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมในรอบภาคเหนือโดยมีนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการการศึกษาไทยก้าวไกลสู่อาเซียน จำนวนกว่า ๓๕๐ คน ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย ๑) การจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ให้ความรู้ในเชิงลึก ๒) การแข่งขัน/ประกวดทักษะทางวิชาการและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑ จำนวน ๖ กิจกรรม และ ๓) การจัดนิทรรศการ/สถานีกิจกรรมฐานความรู้ประชาคมอาเซียน ซึ่งผู้ชนะเลิศในระดับภูมิภาคจะได้เป็นผู้แทนภาคในการเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศที่กรุงเทพมหานครในวันที่ ๒๓ มีนาคมนี้ โดยมีรางวัลเป็นการศึกษาดูงานในต่างประเทศและทุนการศึกษารวมมูลค่ากว่า ๗๐๐,๐๐๐ บาท” นางสาว ดุริยา กล่าว