กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
โครงการ 60 หมู่บ้าน ชุมชนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ลงพื้นที่ชุมชนตำบลบ่อเงิน โรงเรียนสุนทโรเมตตาประชาสรรค์และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี บริการวิชาการแบบมีส่วนร่วม ถ่ายทอดภูมิปัญญาศาสตร์สุมนไพรไทย โดยมีนางสาวยามีละ ดอแม นางจุฑาภรณ์ สังข์ขวัญ และนายนิธิพันธ์ บุญเพิ่ม ผู้รับผิดชอบโครงการ และนายไฉน น้อยแสง เป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งภายในโครงการมีการฝึกอบรมการสร้างธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน ได้แก่ การทำครีมมะขามสูตร AHA ยาดมส้มโอมือ การทำลูกประคบหน้าใส และการทำน้ำไพล เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าสมุนไพรให้กับชุมชน
นางจุฑารัตน์ สังข์ขวัญ หัวหน้าบัวสปา วิทยาลัยแพทย์แผนไทย อาจารย์ประจำสาขาวิชาสุขภาพความงามและสปา เล่าว่า มะขามเป็นสิ่งที่มีทุกครัวเรือน สมัยก่อนนำมะขามมาขัดผิว สามารถขจัดเซลล์ผิว ทำให้ผิวกระจ่างใส เพราะว่ามีวิตามินซีสูง สำหรับครีมมะขามสูตร AHA นำมาอบรมครั้งนี้เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เนื่องจากเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย โดยชุมชนดังกล่าวยังเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อย ทางโรงเรียนหารายได้ให้กับนักเรียนเป็นการสร้างรายได้สนับสนุนการศึกษาและผู้ปกครอง ทางด้านตัวแทนทั้ง 7 หมู่บ้านอาสาสมัครโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ่อเงิน สามาถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดบอกต่อกับสมาชิกในกลุ่ม ไปสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
นางสาวยามีละ ดอแม อาจารย์ประจำสาขาวิชาสุขภาพความงามและสปา เล่าว่า สมุนไพรเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย และลูกประคบหน้าใสเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่สำหรับผู้รักสุขภาพ เป็นสูตรของทางวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยที่ได้คิดสูตรขึ้นมา โดยเมื่อทางโรงเรียนหรือชุมชนร่วมตัวกันในการผลิตลูกประคบหน้าใสส่งตามสปา หรือทำขายตามท้องตลาด จะเป็นการสร้างรายได้ และสร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ เป็นศาสตร์สมุนไพรไทย ซึ่งปัจจุบันคนไทยหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เพราะว่า ไม่มีสารเคมี โดยลูกประคบหน้าใสราคาอยู่ที่ลูกละ 35 บาท/ลูก
นางวรรณภา ไม่มีทุกข์ อสม.รพ.สต และประธาน อสม.หมู่ 7 เล่าว่า เป็นตัวแทนเข้ามาอบรม โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ของตำบลบ่อเงินมีอาชีพทำนา ซึ่งความรู้ที่ได้เข้ารับการอบรม 4 วัน เป็นภูมิปัญญาที่สามารถนำไปต่อยอดได้ ซึ่งสมุนไพรสามารถหาได้ วิธีการในการผลิตไม่ยาก สามารถส่งเสริมอาชีพได้ ซึ่งคิดว่าความรู้ที่ได้จะนำไปถ่ายทอดให้กับชุมชน ตั้งเป็นกลุ่มในการผลิตผลิตภัณฑ์ขึ้นมา แต่คงเป็นกลุ่มเล็กๆ อาจจะทำลองใช้ในกลุ่มหมู่บ้านก่อน จากนั้นจะขยายตลาดสินค้า เนื่องจากถ้าใช้ผลิตภัณฑ์แล้วเห็นผล ผู้บริโภคคงจะไว้ใจในสินค้า ยกตัวอย่างเช่น ลูกประคบหน้าใสถ้าหาตลาดสปาได้ จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มาก
เด็กหญิงศิริยากร วันแอเลาะห์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 ร.ร.สุนทโรเมตตาประชาสรรค์
เล่าว่า ทำให้ทราบถึงสรรพคุณของสมุนไพรไทย โดยตัวผลิตภัณฑ์ที่นำมาสอนทางโรงเรียนสามารถผลิตได้ การทำประคบหน้าใสเป็นอีกทางเลือกใหม่ที่ทำได้ง่าย สามารถใช้เวลาว่างจากการเรียนในชั้นเรียนร่วมกลุ่มกันทำ ทำให้ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีรายได้ระหว่างที่เรียนเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าอบรมในครั้งนี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการฝึกอบรม นำกลับไปใช้ที่บ้านได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี มีนโยบายในการดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตหมู่บ้าน ชุมชน แบบมีส่วนร่วม 60 หมู่บ้าน ชุมชนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยกำหนดให้เป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี โดยจะเริ่มจัดทำโครงการขึ้นในปีงบประมาณ 2558 เป็นโครงการปีแรก วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับชุมชนตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ให้นักเรียนและคนในชุมชนมีความรู้ด้านสุขภาพความงามและสปา และทางด้านการแพทย์แผนไทย โดยวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นวิทยาลัยที่มีความรู้ความสามารถด้านสุขภาพความงามและสปา และด้านภูมิปัญญาไทยที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนและชุมชนเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพตนเอง ครอบครัวและเป็นการส่งเสริมอาชีพระหว่างเรียนและหลังจากจบการศึกษาต่อไป