กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่ระดับ ‘A-(tha)’ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของบริษัทฯ สะท้อนถึงอัตราส่วนทางการเงินที่อ่อนแอในปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอ รวมไปถึงแผนการลงทุนที่สูง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะอยู่สูงกว่าระดับที่เหมาะสมสำหรับอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพัง (Stand-alone credit) ที่ BBB+(tha) ในปี 2558 และน่าจะปรับลดลงไปอยู่ในระดับที่เหมาะสมในปี 2559 อันดับเครดิตของบริษัทฯ ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิตจากการเชื่อมโยงกับ บมจ. ปตท. (ซึ่งมีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ โดยบริษัทฯได้รับการช่วยเหลือทางการเงินในรูปของการขยายเทอมการชำระเงินจาก ปตท. ซึ่งช่วยเสริมสภาพคล่องและสถานะทางเครดิตโดยรวมของบริษัทฯ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การขยายเทอมการชำระเงิน: บริษัทฯ ได้รับการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจาก ปตท. ในรูปแบบเทอมการชำระเงินค่าน้ำมันดิบที่ยืดหยุ่น นอกจากการขยายเทอมการชำระเงินที่ได้รับจาก ปตท. ในปี 2556-2557 แล้ว บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับการขยายเทอมการชำระเงินค่าน้ำมันดิบทั้งหมดจาก ปตท. ในปี 2558 ต่อไปอีก ซึ่งจะช่วยลดความต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2558 และช่วยลดจำนวนการก่อหนี้ ฟิทช์คาดว่าเทอมการชำระเงินจะค่อยๆกลับเป็นปกติเมื่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นตามที่คาดไว้
กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอ: ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ จะมีผลขาดทุนก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายในปี 2557 เนื่องจากการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2557 ทั้งนี้หากไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันแล้ว ผลการดำเนินงานโดยรวมและส่วนต่างรายได้ของบริษัทฯ ยังค่อนข้างดี ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะดีขึ้นในปี 2558-2561 จากการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงกลั่นตามแผนการลงทุนที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
จำนวนเงินลงทุนที่สูง: จำนวนเงินลงทุนที่บริษัทฯ ต้องใช้จะยังคงมีจำนวนสูงอยู่ในปี 2558 แต่คาดว่าจะลดลงอย่างมากตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป หลังจากเสร็จสิ้นแผนการลงทุนขนาดใหญ่เช่น UHV Project ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดเบา และน้ำมันชนิดกลาง และเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ Polypropylene ซึ่งมีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มส่วนต่างรายได้
การผลิตที่ครบวงจร: บริษัทฯ มีความได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงของบริษัทฯ ในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายอันยาวนานในประเทศไทย การเพิ่มขึ้นของสินค้าที่มีมูลค่าสูงจากการลงทุนจะช่วยเพิ่มส่วนต่างของราคาขายและต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นและลดความผันผวนของรายได้ การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างของราคาขายและต้นทุนและการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นและเหมาะสมกับอันดับของบริษัทฯ ในสองปีข้างหน้า
ความเชื่อมโยงกับ ปตท.: ความเชื่อมโยงกับ ปตท. เกิดจากการที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 39 ความเกี่ยวโยงนี้รวมถึงการที่บริษัทฯ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการเงินส่วนกลางของกลุ่ม ปตท. การสับเปลี่ยนหมุนเวียนของผู้บริหารระดับสูงระหว่าง ปตท.และบริษัทในเครือซึ่งรวมถึงบริษัทฯ ด้วย รวมถึงความยืดหยุ่นในการชำระเงินค่าสินค้ากับทาง ปตท.
ความผันผวนของธุรกิจ: อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทฯ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- ราคาต้นทุนเป็นไปตามประมาณการราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของฟิทช์
- ค่าการกลั่นรวม (GIM) ที่ดีขึ้นในปี 2558-2561 เป็นผลมาจากส่วนต่างของราคาขายและต้นทุนที่ดีขึ้นจากแผนการลดต้นทุน, ปริมาณการกลั่นที่สูงขึ้น, และอัตราผลผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูงที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการ UHV และ โครงการ Propylene Derivatives ที่แล้วเสร็จ
- มีการปิดซ่อมแซมของโรงกลั่นตามแผนในปี 2559
- จำนวนเงินลงทุนที่ลดลงอย่างมากในปี 2559
- ปตท. ขยายเทอมการชำระเงินในปี 2558-2559 และค่อยๆลดลงจนกลับเป็นปกติภายในปี 2561
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด เป็นผลให้อัตราส่วนทางการเงินไม่ปรับตัวดีขึ้นตามที่คาดไว้ การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทฯ ไม่สามารถทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานต่ำกว่า 4.25 เท่า (5.49 เท่า ในปี 2557) และอัตราส่วนกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย และค่าเช่า ต่อภาระดอกเบี้ยและค่าเช่าสูงกว่า 3 เท่า (3.30 เท่า ในปี 2557) ในปี 2559 (ตามการประมาณการ)
- ความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ ต่อ ปตท. ที่ลดลง
ปัจจัยบวก: การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพที่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ
- บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานต่ำกว่า 4.25 เท่า และอัตราส่วนกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย และค่าเช่า ต่อภาระดอกเบี้ยและค่าเช่าสูงกว่า 3 เท่า ภายในปี 2559 (ตามการประมาณการ)