กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
บทความสุขภาพ
กลเม็ด(ไม่)ลับ ดับกลิ่นปาก
โดย ทันตแพทย์หญิง มัณฑารพ ชัยมุสิก
คลินิกกลิ่นปาก ศูนย์ทันตกรรมกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ
ในเดือนแห่งความรักนี้ หลายๆ คนเลือกที่จะมอบจุมพิตเป็นวิธีแสดงออกถึงความรักให้กับหวานใจ แต่คงไม่มีใครอยากถูกว่าเป็น “คนสวยหรือหล่อแต่รูป แต่จูบไม่หอม” ซึ่งในบางครั้งการละเลยสุขภาพช่องปากและฟัน ทำให้มีกลิ่นเหม็นจากช่องปากมารบกวนใจก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำลายช่วงเวลาแห่งความสุขแสนโรแมนติกของคุณและคนรักอย่างไม่คาดฝันได้เหมือนกัน เพื่อต้อนรับเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ คลินิกกลิ่นปาก โรงพยาบาลกรุงเทพ จึงมีกลเม็ดง่ายๆ สำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากให้ปราศจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์มาฝากกันค่ะ
ทันตแพทย์หญิง มัณฑารพ ชัยมุสิก ทันตแพทย์ คลินิกกลิ่นปาก ศูนย์ทันตกรรมกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า กลิ่นปากมีสาเหตุมาจากทั้งภายใน และภายนอกช่องปาก แต่สาเหตุส่วนใหญ่ประมาณ 90 % มาจากภายในช่องปาก เพราะกลิ่นปากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปาก ไปทำการย่อยสลายสารประกอบประเภทโปรตีนที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นขึ้น สาเหตุที่สำคัญและพบได้บ่อยที่สุดคือการมีฝ้าขาวบนลิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โคนลิ้นด้านใน เราสามารถทดสอบกลิ่นได้โดยใช้ช้อนขูดที่บริเวณนี้ ปล่อยทิ้งไว้สักครู่แล้วดม กลิ่นที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลิ่นเหม็นของก๊าซไข่เน่า แต่ถ้าหากฝ้าหนามากๆ จะมีกลิ่นเหมือนอุจจาระเลยทีเดียว สำหรับสาเหตุอื่นๆในช่องปากยังมีอีกมากมาย เช่น ฟันผุ ยิ่งฟันผุเป็นรูลึก ยิ่งมีกลิ่นเหม็นมาก หรือมีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน โรคเหงือกอักเสบซึ่งเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีแผ่นคราบฟันและหินปูนสะสม หากไม่ได้รับการรักษาโรคเหงือกอักเสบก็จะลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงยิ่งขึ้น สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นปากคือ ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ เมื่อมีน้ำลายน้อย เชื้อโรคต่างๆจะตกค้างอยู่ในช่องปากเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดกลิ่นมากขึ้น ในบางขณะจะมีการหลั่งของน้ำลายลดลงตามธรรมชาติก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น เวลานอน ภาวะอดอาหาร หรือหิว ตลอดจนภาวะเครียด อาชีพที่ใช้เสียงมากๆ เช่น ครู ทนายความ จะมีผลให้น้ำลายลดลง ทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน ดังนั้นน้ำจึงเป็นยาที่ดีที่สุดในการลดกลิ่นปาก ส่วนสาเหตุจากภายนอกช่องปาก มักมาจากระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินทางอาหาร โดยที่สาเหตุจากระบบทางเดินหายใจส่วนใหญ่เกิดจากการมีน้ำมูกไหลลงคอทางด้านหลังโพรงจมูก และการมีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิล ส่วนสาเหตุจากระบบทางเดินอาหารส่วนใหญ่เกิดจากการมีแบคทีเรียส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งมักจะมีอาการท้องอืด แน่น เรอมีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้อาหารบางชนิดเมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น กระเทียม ทุเรียน หัวหอม เครื่องเทศ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลายๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้
สำหรับกลิ่นปากในเด็กนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุภายในช่องปากและระบบทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย ได้แก่ การมีสุขอนามัยในช่องปากไม่ดี เช่นฟันผุ เศษอาหารตกค้างตามซอกฟัน เหงือกบวมเป็นหนอง หรือไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ และการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ตลอดจนโรคภูมิแพ้ ก็สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ การดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้ดีตั้งแต่เด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ปกครองควรสอนให้เด็กแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เลือกแปรงที่มีขนาดเหมาะสมและมีขนอ่อนนุ่ม
สรุปว่ากลิ่นปากเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ การรักษาคือการแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น ประกอบกับการปรับพฤติกรรมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีในช่องปาก ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะเมื่อปากแห้ง แบคทีเรียในปากจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ การดื่มน้ำจะช่วยขจัดแบคทีเรียและช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในช่องปาก ช่วยขจัดคราบบนลิ้นและเสมหะในลำคอ ตลอดจนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามร่องของทอนซิล และทำให้มีน้ำลายเพิ่มขึ้น ควรแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และอย่าลืมแปรงด้านบนของลิ้น อันเป็นที่สะสมของแบคทีเรียด้วย เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในช่องปากให้เหมาะสมที่ไม่ทำให้ปากแห้ง ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งก่อนนอน ถ้าไม่สะดวกจะแปรงฟันให้รับประทานผลไม้รสเปรี้ยวหลังอาหารก็จะสามารถลดกลิ่นปากได้บ้าง พยายามงดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม กะปิ หอมใหญ่ เครื่องเทศ และเนยแข็ง หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก เช่น แอลกอฮอลล์ รับประทานผัก ผลไม้ให้ได้ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารทั้งหมด ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคกลุ่มนี้ได้ดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด เพราะความเครียดจะทำให้น้ำลายลดลง เลิกสูบบุหรี่ ตรวจสุขภาพฟันสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ไม่มีกลิ่นปากมารบกวนใจแบบ Happy Valentine ได้แล้วค่ะ คุณหมอฝากทิ้งท้าย
โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70