กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประวัติการดำเนินงานของบริษัทในธุรกิจจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ตลอดจนความมีประสิทธิภาพในการควบคุมค่าใช้จ่าย และการมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันสำเร็จรูปทั่วประเทศ นอกจากนี้ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงอุปทานส่วนเกินของน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย และความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีผลกระทบต่อบริษัทในวงจำกัดด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะของธุรกิจที่มีอัตรากำไรต่ำ ตลอดจนความเสี่ยงจากการพึ่งพิงผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ (Supplier) และการแทรกแซงจากภาครัฐในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในปัจจุบันในธุรกิจจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปเอาไว้ได้ และคาดว่าบริษัทยังคงสามารถบริหารและควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในช่วงการขยายธุรกิจได้
ปัจจัยที่มีผลในเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้แก่ กรณีที่ค่าการตลาดของบริษัทลดลงเป็นระยะเวลานาน หรือ กรณีที่บริษัทไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่ที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Total liabilities to total equity) สูงเกินกว่า 2 เท่า ยังเป็นปัจจัยเชิงลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทอีกด้วย
ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้แก่ กรณีที่สถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือ กรณีที่บริษัทประสบความสำเร็จในการกระจายแหล่งรายได้
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด ก่อตั้งในปี 2531 ภายใต้ชื่อ บริษัท ภาคใต้เชื้อเพลิง จำกัด โดยประกอบกิจการศูนย์จำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2535 บริษัทได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันสำเร็จรูปโดยการเปิดสถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายการค้า “PT” บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2556 โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มครอบครัวรัชกิจประการ (33%) นายศักดิ์อนันต์ วิจิตรธนารักษ์ (18.5%) และกลุ่มครอบครัววชิรศักดิ์พานิช (9.4%) โดย ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทบริหารสถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายการค้า “PT” ทั่วประเทศจำนวน 886 แห่ง โดยคิดเป็นประมาณ 4% ของจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั้งหมดในประเทศไทย
สถานะทางธุรกิจของบริษัทเป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทซื้อน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นภายในประเทศเพื่อนำมาจำหน่ายต่อผ่านช่องทางจำหน่ายของบริษัท ปัจจุบันบริษัทซื้อน้ำมันสำเร็จรูปเกือบทั้งหมดจาก บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปผ่านสถานีบริการน้ำมัน “PT” ประมาณ 85% ของยอดจำหน่ายโดยรวมของบริษัท ส่วนที่เหลืออีก 15% จำหน่ายตรงให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารสถานีบริการน้ำมันเองเป็นส่วนใหญ่ (Company owned company operated --- COCO) ซึ่งแตกต่างจากผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อื่น ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปทั้งสิ้น 1,316 ล้านลิตร โดยประมาณ 70% ของปริมาณจำหน่ายจะผ่านสถานีบริการ COCO ในขณะที่ประมาณ 14% จำหน่ายผ่านสถานีบริการของต้วแทนจำหน่าย ส่วนที่เหลืออีก 16% จำหน่ายตรงให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทดำเนินการบริหารศูนย์กระจายน้ำมันสำเร็จรูป (คลังน้ำมัน) จำนวน 9 แห่งโดยมีความจุรวมทั้งสิ้น 200.7 ล้านลิตร นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของรถบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 330 คัน ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถจัดการการขนส่งน้ำมันและบริหารสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนสถานีบริการน้ำมันของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 248 แห่ง ณ สิ้นปี 2552 เป็น 886 แห่ง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 สถานีบริการน้ำมันของบริษัทตั้งอยู่บนถนนสายรองมากกว่าถนนสายหลัก บริษัทใช้บัตรสมาชิก PT MAX Card เพื่อส่งเสริมการจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2557 บริษัทมีจำนวนสมาชิก PT MAX Card ทั้งสิ้น 2.14 ล้านราย ซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนสถานีบริการน้ำมันและจำนวนสมาชิก PT MAX Card ช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายน้ำมันของบริษัทจาก 391 ล้านลิตรในปี 2552 เป็น 1,316 ล้านลิตรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ค่าการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.16 บาทต่อลิตรในปี 2552 เป็น 1.61 บาทต่อลิตรในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ซึ่งค่าการตลาดที่ดีขึ้นนั้นส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มจำนวนสถานีบริการน้ำมัน COCO ซึ่งให้ค่าการตลาดที่สูงกว่า โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทเป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน COCO ประมาณ 76% ของจำนวนสถานีบริการ "PT" ทั้งหมด เมื่อเทียบกับ 40% ในปี 2552
สถานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง การขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างรวดเร็วส่งผลให้รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 9,677 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 47,694 ล้านบาทในปี 2556 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีรายได้ 40,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จาก 36,799 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้ค้าน้ำมันและทำธุรกิจการตลาดสำหรับน้ำมันสำเร็จรูปทำให้บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) อยู่ที่ประมาณ 1%-2% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างเงินทุนของบริษัทเป็นที่น่าพอใจ ในปี 2556 บริษัทได้เพิ่มทุนจำนวน 1,638 ล้านบาทจากการเสนอขายหุ้นใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering -- IPO) แม้ว่าบริษัทมีการขยายสถานีบริการน้ำมันจำนวนมาก แต่บริษัทใช้กลยุทธ์ในการเช่าสถานีบริการน้ำมันที่มีอยู่เดิมแทนการสร้างสถานีบริการน้ำมันใหม่สำหรับการขยายสถานีบริการน้ำมัน COCO ของบริษัท ทำให้ภาระการลงทุนมีจำนวนไม่สูง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 บริษัทมีเงินกู้รวม 823 ล้านบาท หรือ 1,898 ล้านบาทเมื่อปรับปรุงด้วยภาระผูกพันจากการเช่าสถานีบริการ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงแล้ว) ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 35% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 ส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทนั้นเพิ่มขึ้นจาก 171 ล้านบาทในปี 2552 เป็น 686 ล้านบาทในปี 2556 สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงาน 840 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นของเงินทุนจากการดำเนินงานมาจากการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันของบริษัทและยอดขายที่เพิ่มขึ้นของสถานีบริการน้ำมันเดิม ทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวม (ปรับปรุงแล้ว) ของบริษัทมากกว่า 35% ตั้งแต่ปี 2553
สำหรับช่วงปี 2558 - 2560 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำเนินการขยายจำนวนสถานีบริการที่เป็นของบริษัทเองอย่างต่อเนื่อง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะมากกว่า 900 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะไม่ต่ำไปกว่าระดับปัจจุบันบนสมมติฐานว่าบริษัทยังคงควบคุมค่าใช้จ่ายได้ต่อเนื่องและได้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนโดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 1,600 ล้านบาทต่อปี สำหรับการขยายและปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันและศูนย์กระจายน้ำมันสำเร็จรูปของบริษัท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมการลงทุนในส่วนของทุนจำนวน 640 ล้านบาทในโครงการปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรด้วย (Palm Complex) ซึ่งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ปรับปรุงแล้ว) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50%-55%ในช่วงปี 2558 - 2560 บนสมมติฐานว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผลในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิตามนโยบายของบริษัท
บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) (PTG)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable